วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ฝาไหล (ฝาไหลฯ)

ฝาไหล (ฝาไหลฯ)

ฝาหมายถึงระนาบแนวตั้งที่ปิดล้อมที่ว่างของห้องหรืออาคาร ไหลคือลักษณะที่เลื่อนไป ในเขตวัฒนธรรมล้านนาเรียกฝาผนังอาคารที่เลื่อนไปมาได้ว่าฝาไหล เป็นลักษณะที่ตรงกับการใช้คำในปัจจุบันที่ว่า บานเลื่อน ซึ่งบานเลื่อนในปัจจุบันมีใช้กับประตูและหน้าต่าง ส่วนฝาไหลตามที่มการใช้ใช้กับรูปแบบช่องหน้าต่างเป็นหลัก ยังพบว่ามีการใช้ฝาไหลในระนาบฝาระดับเหนือพื้นเรือนเล็กน้อย หรือระดับใต้หน้าต่าง โครงสร้างของฝาไหลประกอบไปด้วยระนาบฝาสองชั้น แต่ละชั้นมีการเจาะช่องเปิด การเลื่อนฝาสามารถควบคุมการเปิดปิดของช่องเปิดได้ คือ หากช่องของฝามาตรงกันก็จะเป็นการเปิด หากช่องของระนาบด้านในไม่ตรงกับช่องของระนาบผนังด้านนอกก็จะเป็นการปิด ชาวล้านนานิยมทำฝาไหลในส่วนที่ต้องการการระบายอากาศและต้องการปิดในบางครั้งเพื่อกันลมหนาวหรือพื่อความเป็นส่วนตัว ที่นิยมได้แก่ฝาไหลที่ผนังห้องครัว ฝาไหลในห้องนอน ฝาไหลที่ราวกันตกในส่วนชานและเติ๋น (ชานยกระดับใต้ชายคาหน้าห้องนอน) ปัจจุบันไม่นิยมทำฝาไหลในบ้านสมัยใหม่ เนื่องจากต้องใช้ไม้ที่มีราคาแพง และเป็นการปิดกั้นมุมมอง วัสดุกระจกจึงเป็นวัสดุใหม่ที่มาทดแทนประกอบกับเทคนิคการใช้เทคโนโลยีการติดตั้งบานหน้าต่างมีการพัฒนาไปดีขึ้น

ที่มา: เชาวลิต สัยเจริญ, ต้นฉบับร่างเพื่อส่งให้ ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำลงตีพิมพ์ในวารสาร มติชน รายสัปดาห์

กาแล (กาแล)

กาแล (กาแล)
อ่านว่า “ก๋าแล” หมายถึง ส่วนประกอบส่วนปลายยอดป้านลมที่หน้าจั่วหลังคาของเรือนพื้นบ้านล้านนา ที่มีพัฒนาการมานานหลายร้อยปีจนมีรูปแบบทางประเพณีที่ลงตัว เรือนกาแลโบราณเป็นเรือนหลังคาเดี่ยวยกพื้นเรือนสูง พัฒนามาจากเรือนเครื่องผูกโครงสร้างไม้ไผ่ที่เรียกว่า ตูบ  (ตูบ) จากหลักฐานอายุเรือนกาแลที่เก่าที่สุดมีอายุประมาณร้อยกว่าปี พบว่านิยมสร้างเป็นเรือนหลังคาจั่วแฝด โดยมีส่วนยอดหลังคาที่จั่วเป็นปลายป้านลมที่แกะสลักเป็นกาแลอย่างสวยงาม ตามหลักฐานพบว่าเรือนกาแลส่วนใหญ่ปลูกสร้างในชุมชนเมืองเชียงใหม่ในอดีต และกระจายตัวไปตามชุมชนสำคัญโดยรอบเชียงใหม่ เช่น สันทราย แม่ริม หางดง สันป่าตอง แม่แจ่ม เป็นต้น เรือนกาแลถือได้ว่าเป็นเรือนของผู้มีฐานะดี ในอดีต เจ้าของเรือนมักเป็นเกษตรกรผู้ทำนาทำไร่ที่สร้างผลผลิตการเกษตรออกสู่ตลาดได้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ข้าว หอม กระเทียม และลำใย ในสมัยโบราณก่อนสังคมยุคเศรษฐกิจคือก่อนสมัยรัตนโกสินทร์นั้น เจ้าของเรือนกาแลเป็นของกลุ่มชนชั้นหัวหน้าชุมชน หรือคหบดี ซึ่งสอดคล้องกับประเพณีการสร้างเรือนกาแลชาวลัวะที่อาศัยบนไหล่เขาสูงทางใต้และทางทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ โดยจะสร้างเรือนกาแลที่สวยงามแข็งแรงสำหรับหัวหน้าชนเผ่าที่เรียกว่า “สะมาง”




นักวิชาการไทยสันนิษฐานในหลายประเด็น ประเด็นแรกเชื่อว่า กาแล ถูกทำขึ้นตามอิทธิพลความเชื่อในลัทธิบูชาหลุมศพบรรพบุรุษของชาวลัวะหรือละว้าโบราณ โดยปักเครื่องรางกิ่งไผ่สัญลักษณ์กากบาทไว้บนหลุมศพ ภายหลังมีการนำมาแขวนบูชาและกันสิ่งชั่วร้ายบนยอดหลังคา และภายหลังพัฒนาตกแต่งเป็นกาแล ประเด็นที่สองเชื่อว่าเป็นเพราะการทำกาแลไว้บนหลังคาให้มีลักษณะคล้ายเหยี่ยวกระพือปีก เพื่อป้องกันอีกามาเกาะหลังคา ซึ่งชาวล้านนาถือว่าจะนำความอัปมงคลมาสู่เรือน ประเด็นที่สามสันนิษฐานโดยนักวิชาการต่างถิ่น ที่กล่าวว่าอาจเป็นเพราะชาวเชียงใหม่ถูกชาวพม่าบังคับให้ทำกาแลไว้บนหลังคาเพื่อข่มและสร้างความอัปมงคลให้คนเชียงใหม่ ประเด็นสุดท้ายนักวิชาการทางด้านสถาปัตยกรรมและล้านนาคดีสมัยใหม่ สันนิษฐานว่า กาแลน่าจะพัฒนามาจากความจำเป็นในประโยชน์ใช้สอยของป้านลม ที่โครงสร้างต้องไขว้ขัดกันเพื่อยึดป้านลมกับแปหลังคาให้แข็งแรงกันแรงลมกระพือแผ่นมุงหลังคาให้ปลิว ส่วนปลายของป้านลมที่ขัดกันนั้น มีพัฒนาการมาจากป้านลมของเรือนเครื่องผูกที่เป็นลำไม้ไผ่ขัดกันบนยอดหลังคาเช่นกัน ส่วนป้านลมเรือนกาแลที่เป็นไม้สักโดยส่วนใหญ่ มีขนาดแผ่นกว้าง การแกะสลักปลายป้านลมจะช่วยลดความเทอะทะและเพิ่มความงดงามให้แก่เรือน ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์อันน่าภูมิใจของเจ้าของเรือนที่ได้โชว์ฝีมือการแกะสลักไม้ และนับว่าเป็นเครื่องหมายประจำตระกูลได้ด้วย นอกจากนั้นสัญลักษณ์สำคัญที่ไม่ด้อยไปกว่ากาแลคือ “หำยนต์” คือ ทับหลังประตูห้องนอน ซึ่งจะกล่าวในโอกาสต่อไป



ที่มา: เชาวลิต สัยเจริญ, ต้นฉบับร่างเพื่อส่งให้ ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำลงตีพิมพ์ในวารสาร มติชน รายสัปดาห์

ซุ้มโขง (ซุ้มฯโขงฯ)

ซุ้มโขง (ซุ้มฯโขงฯ)

ซุ้มโขง หมายถึง ซุ้มประตูทางเข้าบริเวณพื้นที่ศาสนสถานหรืออาคารพิเศษในวัฒนธรรมล้านนา สร้างขึ้นด้วยศิลา อิฐ ปูน หรือไม้ มีความเป็นมาเชื่อมโยงกับคติความเชื่อและขนบธรรมเนียมที่มีมาแต่โบราณก่อนสมัยล้านนา สันนิษฐานตามหลักฐานทางโบราณคดีและศิลปกรรมที่พบว่ามีการสร้างซุ้มทางเข้าตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจในพื้นที่ประเทศไทยในอดีต สัมพันธ์กับระบบความเชื่อและธรรมเนียมประเพณีในศาสนา พราหมณ์-ฮินดู ที่ได้รับมาจากอินเดียอีกทอด เพื่อวัตถุประสงค์ในการเสริมความเป็นมงคลและให้ความสำคัญแก่บุคคลสำคัญในการต้อนรับ หรือสร้างเป็นทางลอดไปสู้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หรือพื้นที่ๆ พิเศษ โดยซุ้มประตูจะได้รับการสร้างและตกแต่งงดงามเป็นพิเศษ ซุ้มประตูแบบชั่วคราวตกแต่งด้วยต้นไม้ ใบไม้ และดอกไม้ เช่น ซุ้มประตูป่า (ซุ้มฯระฯปตูป่า) ในงานตกแต่งประตูในงานประเพณียี่เป็งของล้านนา ซุ้มประตูแบบถาวรนิยมสร้างไว้ในศาสนสถาน สร้างด้วยวัสดุก่อสร้างที่แข็งแรงและมีเรือนยอด คือ ซุ้มโขง หรือ ประตูโขง สร้างไว้เป็นประตูทางเข้าวัด โบสถ และ วิหาร ซุ้มโขงอีกประเภทสร้างไว้เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป เรียกว่า โขงพระเจ้า (โขงฯระฯพจู้) ซึ่งถูกกำหนดไว้ในตำแหน่งประธานของห้องวิหารหรือโบสถ โดยปกติซุ้มโขงมีประตูไม้ที่มีกลอน ตัวซุ้มนิยมก่อด้วยหินหรืออิฐสอปูน มีการออกแบบให้มีส่วนฐาน ส่วนองค์ซุ้ม และส่วนยอด การย่อมุมตัวซุ้มทำให้สวยงามดูไม่เทอะทะ การทำยอดซุ้มช่วยให้ดูสวยสง่างามเป็นพิเศษ การประดับตกแต่งโดยเฉพาะรูปแบบในสมัยที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุดในล้านนา ในสมัยพระเจ้าติโลกราชจนถึงสมัยพระเมืองแก้ว  ซุ้มโขงจะได้รับการตกแต่งด้วยปูนปั้น เซรามิก กระจก และเทคนิคการลงรักปิดทอง ด้วยลวดลายทมี่วิจิตรงดงาม ลวดลายต่างๆ และประติมากรรมตกแต่ง สะท้อนสัญลักษณ์ความเชื่อคติจักรวาล และการมีอยู่ของสวรรค์แดนทิพย์และป่าหิมพานต์ ตัวอย่างเช่น ประติมากรรมรูป เทวดา กินรี หงส์ พญานาค และดอกไม้สวรรค์ เป็นต้น

ที่มา: เชาวลิต สัยเจริญ, ต้นฉบับร่างเพื่อส่งให้ ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำลงตีพิมพ์ในวารสาร มติชน รายสัปดาห์

ดินขอ (ดินฯขอฯฯ)

ดินขอ (ดินฯขอฯฯ)
ดินขอ หมายถึงกระเบื้องดินเผาชนิดหนึ่ง ที่ชาวล้านนาและชาวไตเผ่าต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงได้ประดิษฐ์ขึ้นใช้เพื่อเป็นวัสดุมุงหลังคาเรือนมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่าภูมิปัญญาทางเทคนิควิทยาประเภทนี้มีพัฒนาการมานานเกินกว่า ๑,๔๐๐ ปี อย่างน้อยในสมัยหริภุญไชยที่สามารถตรวจสอบพบหลักฐานทางโบราณคดี และน่าจะเก่าแก่ไปถึงสมัยหิรัญนครเงินยาง ก่อนมีอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ วัสดุหลักที่ใช้ประดิษฐ์ทำจากดินเหนียวจากหนองน้ำหรือทุ่งนา เฉพาะตัวดินเหนียวล้วน ๆ เมื่อนำมานวดแล้วปั้นเป็นอิฐ นำไปตากแดดหรือเผาไฟ เรียกว่า ดินจี่ (ดินฯจี่) ใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง ส่วนในการทำดินขอ จะนำดินเหนียวมานวดและใส่ส่วนผสมมากกว่าเนื้ออิฐ คือ เพิ่มความเหนียวและคงทนให้มากขึ้น ด้วยการผสมแกลบ และเศษฟางหญ้าเข้าไปในดินเหนียวที่นวดด้วย ดินขอแต่ละชุมชนอาจมีส่วนผสมที่มีสัดส่วนแตกต่างกัน ตามหลักฐานเรือนกาแลโบราณที่มีอายุเกินกว่า ๑๐๐ ปี มีดินขอที่ยังใช้งานได้ดี ที่มีอายุใช้งานยืนนานเพราะได้ใส่ส่วนผสมพิเศษมากขึ้นเพิ่มเติม ได้แก่ กาวหนังและน้ำอ้อย มีคุณสมบัติทั้งเป็นตัวประสานและเพิ่มความคงทนที่เยี่ยม อีกทั้งสามารถทำให้แผ่นดินขอมีความบางเบาได้มาก ช่วยลดน้ำหนักโครงสร้างหลังคาอาคารได้ แต่เดิมนิยมผลิตดินขอ โดยปั้นและทำเตาเผาในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างอาคาร เพื่อลดภาระและความเสียหายระหว่างการขนย้าย พบการใช้ดินขอมุงหลังคาในบ้านชาวไต ที่ตั้งถิ่นฐานทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ไตยวน ไตลื้อ ไตขึน ไตใหญ่ นอกจากนั้นยังมีการถ่ายทอดไปสู่ชาติพันธุ์บางเผ่า เช่น ชาวลัวะ ชาวขมุ เป็นต้น

ที่มา: เชาวลิต สัยเจริญ, ต้นฉบับร่างเพื่อส่งให้ ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำลงตีพิมพ์ในวารสาร มติชน รายสัปดาห์

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นชนกลุ่มน้อยในล้านนา

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Vernacular architecture) เป็นสิ่งที่คนแต่ละเผ่าสร้างขึ้น (Built environment) เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์วัฒนธรรม (Cultural landscape) ของแต่ละชุมชน มีลักษณะ (Characteristics) ที่สะท้อนถึง ความต้องการพื้นฐานด้านการอยู่อาศัย ภายใต้ภูมิปัญญาที่แก้ปัญหาจากข้อกำหนดทางบริบทแวดล้อมของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น สภาพแวดล้อมทางกายภาพพื้นที่ สภาพดินฟ้าอากาศ วัสดุท้องถิ่นที่หาได้ ค่านิยม ความเชื่อ จารีต และโลกทัศน์ความเป็นอยู่ สร้างขึ้นตามสัญชาตญานทางธรรมชาติของมนุษย์ สร้างขึ้นกันเองโดยไร้สถาปนิกหรือนักออกแบบอาชีพ เน้นความลงตัวเรียบง่ายของการใช้งานตามเหตุผล มากกว่าการสร้างเพื่อโอ้อวดสถานะทางสังคมหรือเป็นไปในทางฟุ่มเฟือย ความงดงามของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น จึงเป็นความงามที่ซื่อตรง บริสุทธิ์ ถ่อมตน และมีเอกลักษณ์ตามแต่ละท้องที่

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในล้านนา มีทั้งที่เป็นของชาติพันธุ์คนเมือง (ไตยวนและลูกผสม) ไตลื้อ ไตใหญ่ ไตเขิน ไตยอง และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชนกลุ่มน้อย ชนกลุ่มน้อยในที่นี้หมายถึงชาติพันธุ์บริสุทธิ์ที่เคยอยู่ในพื้นที่ ได้แก่ ชาวลัวะ และชาติพันธุ์ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในล้านนาภายหลัง ได้แก่ ชาวม้งที่มีการเคลื่อนย้ายเข้ามาประมาณร้อยกว่าปี ชาวกะเหรี่ยงที่เคลื่อนย้ายเข้ามาภายหลัง รวมทั้ง ชาวอาข่า ชาวมูเซอ ชาวปะหล่อง ชาวเย้า เป็นต้น

สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของพวกเขา สะท้อนให้เป็นความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมการก่อสร้างจากแหล่งตั้งถิ่นฐานเดิมที่ปรากฏในรูปแบบการเลือกที่ตั้งถิ่นฐาน ชาวม้งตั้งถิ่นฐานบนยอดดอย ที่ตำแหน่งเหนือระดับน้ำทะเลที่สูงกว่าชาวเขาเผ่าอื่นๆ เพราะนับถือผีฟ้าและกลัวผีน้ำ จึงไม่ตั้งชุมชนติดแหล่งน้ำ ชาวอาข่าเลือกที่ตั้งถิ่นฐานบนดอยสูงเช่นกันแต่ไม่เลือกบนยอดดอยเหมือนขาวม้ง ชาวลัวะเลือกที่ตั้งถิ่นฐานบนที่ราบเนินเขาหรือบนไหล่เขาใกล้แหล่งน้ำ ชาวกะเหรี่ยงนับถือผีฟ้าเกรงกลัวผีฟ้าและเลือกตั้งถิ่นฐานติดลำห้วยตามซอกเขา

รูปแบบการก่อสร้างที่เชื่อมโยงกับแหล่งที่ตั้งถิ่นฐานเดิมของชนกลุ่มน้อย เช่น การสร้างเรือนติดพื้นดินของชาวม้งที่นิยมทำกันแบบในเขตยูนนาน หรือการสร้างเรือนยกพื้นใต้ถุนสูงของชาวลัวะและกะเหรี่ยง ชาวอาข่าสร้างเรือนยกพื้นที่ต่ำกว่าเรือนลัวะและกะเหรี่ยง บนดอยสูงพื้นที่ลาดเท เหมือนชาวอาข่าในเขตยูนนาน ส่วนชาวเขาอพยพเผ่าอื่นที่เคลื่อนตัวเข้ามาภายหลัง มักประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน รัฐบาลเห็นว่าเป็นกลุ่มที่บุกรุกพื้นที่ป่า การแก้ปัญหาภายหลังจึงต้องมีการจัดสรรพื้นที่ตั้งถิ่นฐานให้ แต่ยังขาดแคลนพื้นที่ทำกินด้านการเษตรเลี้ยงชีพ ฉะนั้นกลุ่มหลังนี้จึงไม่สามารถสร้างเรือนพักอาศัยให้มีสภาพที่เหมาะสมหรือสะท้อนเอกลักษณ์จากแหล่งที่อพยพมาที่ชัดเจน ระบบการสร้างภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ชนเผ่าไม่เข้มแข็ง มักมีการหยิบยืมภูมิปัญญาของชนเผ่าข้างเคียงมาใช้ ซึ่งอาจไม่เพียงแต่ด้านการก่อสร้าง เราอาจพบทั้งรูปแบบการแต่งกาย การทำการเกษตร เครื่องประดับกาย เครื่องมือในการดำรงชีพ เป็นต้น


สาปัตยกรรมพื้นถิ่นของแต่ละชนเผ่า มองภาพรวมอาจดูคล้ายกัน แต่ในความเป็นจริงมีความแตกต่างกันอยู่มากหลายมุม ต้องศึกษาลงไปรายละเอียดของประวัติความเป็นมาชนเผ่า วัฒนธรรมชนเผ่า ด้าน ความเชื่อ จารีตและประเพณีต่างๆ ซึ่งพบว่า สัมพันธ์ไปกับทิศทางและองค์ประกอบการวางผังหมู่บ้าน และ การวางผังบ้าน รวมทั้งการกำหนดพื้นที่ว่างสาธารณะ พื้นที่ว่างกึ่งสาธารณะ และพื้นที่ว่างครัวเรือน รวมทั้งพื้นที่ว่างส่วนบุคคล มีพื้นที่พิเศษที่สะท้อนสถานะทางสังคมของชนเผ่า ผู้นำ หมอผี เพศสภาวะ และมีพื้นที่สำหรับผีและวิญญานบรรพบุรุษ โดยมีระเบียบข้อห้ามเชิงปฏิบัติบางประการที่เกี่ยวเนื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อนมากขึ้น ต้องใช้เวลาและความสนใจในการศึกษาลึกซึ้งเพิ่มเติมเป็นพิเศษ

ปัจจุบันสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชนเผ่าต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการใช้วัสดุท้องถิ่นไปเป็นวัสดุสมัยใหม่มากขึ้น จนบางหมู่บ้านไม่สามารถหารูปแบบเอกลักษณ์แบบดั้งเดิมหลงเหลือ เพราะการขาดแคลนวัสดุก่อสร้างจากธรรมชาติ การลดจำนวนลงของต้นไม้ใหญ่ในป่า ต้นตองตึง (พลวง) ต้นค้อ หญ้าคา เป็นต้น การใช้วัสดุสมัยใหม่ช่วยให้เสียเวลาในการคอยซ่อมแซมบ้านน้อยลง ซึ่งปกติซ่อมหลังคาใบไม้ทุกสองถึงสามปี การเสียเวลาเสาะหาวัสดุมุงหลังคาซึ่งหายากมากขึ้น พวกเขาคิดว่าสู้ใช้เวลาในการทำงานหรือขายแรงงานแลกเงินเพื่อมาซื้อวัสดุมุงหลังคาแบบใหม่ เช่น สังกะสี กระเบื้องลอน จะทำให้คงทนกว่า แม้จะทำให้ในบ้านร้อนขึ้น และเมื่อหาเงินได้มากขึ้นอีกก็จะซื้อวัสดุสมัยใหม่มาซ่อมสร้างในโครงสร้างส่วน ผนัง พื้น ฯลฯ อีก และถ้าหาเงินได้มากขึ้นอีก ก็จะมีความสะดวกสบายในชีวิตที่ยกระดับขึ้นและทันสมัยตามอย่างคนในเมืองมากขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกที่ต้องการได้แก่ มอเตอร์ไซด์ รถกระบะ วิทยุ ทีวี ตู้เย็น พัดลม เครื่องเล่นดีวีดี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นเรื่องเชิดชูฐานะของตนเองเช่นกัน

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

หำยนต์

หำยนต์ (อ่านว่า หำ - ยน )


หำยนต์คือแผ่นไม้แกะสลักที่อยู่ในกรอบเหนือประตูห้องนอนในเรือนกาแลของชาวล้านนา มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีลวดลายที่สวยงาม เช่น ลายดอกไม้ ลายเครือเถา ก้านขด ลายเมฆ ลายน้ำ ลายประแจจีน หรือลายเรขาคณิตอย่างง่าย ชาวล้านนาเชื่อว่าหำยนต์มีพลังลึกลับที่สามารถดลบันดาลความเป็นไปแก่เจ้าของบ้าน มีการทำหำยนต์ขึ้นในเวลาสร้างเรือนใหม่ โดยนำแผ่นไม้มาผูกไว้กับเสามงคล (เสาเอก) เพื่อทำพิธีสูตรถอน และอัญเชิญอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสถิตที่หำยนต์ จากนั้นแกะสลักแล้วทำการติดตั้งโดยมีพิธียกขันตั้งหลวง ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู ผ้าขาว ผ้าแดงและสุราอาหาร มีปราชญ์ประจำหมู่บ้านทำหน้าที่กล่าวอัญเชิญเทวดา อารักษ์ ผีบ้านผีเรือนมาปกป้องรักษาบ้านหลังนั้นให้อยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขอุดมสมบูรณ์

การกำหนดขนาดของหำยนต์ ใช้วิธีวัดขนาดจากความยาวของเท้าเจ้าของบ้าน ถ้าเป็นประตูขนาดเล็กจะใช้ขนาดสามเท่าของเท้า ประตูขนาดใหญ่จะวัดให้ได้ขนาดสี่เท่าของเท้าเจ้าของบ้าน โดยถือว่าการทำหำยนต์เป็นการข่มผู้ที่จะเดินลอดผ่านข้างใต้ด้วย เชื่อกันว่าหำยนต์เป็นสิ่งที่สามารถคุ้มครองป้องกันสิ่งไม่ดีที่จะเข้ามากล้ำกลายเจ้าของเรือนและครอบครัวได้ ในด้านการใช้งาน หำยนต์อยู่เหนือข่มประตูห้องนอน แบ่งพื้นที่ห้องนอนกับพื้นที่เติ๋น (ชานร่มรับแขกบนเรือน) เป็นการแบ่งพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวของครอบครัวซึ่งนับถือผีตระกูลเดียวกันออกจากผู้มาเยือน และเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นตัวตนของเจ้าของเรือนที่ผู้อื่นไม่ควรกล้ำกลายเข้าไปโดยพละการ การถลำก้าวล้ำเข้าไปถือเป็นการผิดผี จะต้องทำพิธีขอสูมาลาโทษ ทัศนะของนักวิชาการและปราชญ์ท้องถิ่นเกี่ยวกับหำยนต์มีมากหลาย เช่น เป็นยันตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันภัยอันตราย บ้างว่าอาจมีที่มาจากรูปแบบทับหลังซุ้มประตูในสถาปัตยกรรมเขมรที่ได้รับอิทธิพลมาจากชวาอีกต่อหนึ่ง แล้วแพร่หลายเข้าสู่ดินแดนล้านนาภายหลัง

อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ อธิบาย คำว่า "หำ" ว่าเป็นภาษาล้านนาหมายถึง "อัณฑะ" อันเป็นสิ่งที่รวมพลังของเพศชาย ส่วนคำว่า "ยน" คงมาจาก "ยนตร์" แปลว่าสิ่งป้องกันรักษาที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นหำยนต์จึงเป็นส่วนตกแต่งเรือนและทำหน้าที่เป็นยันต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะป้องกันอันตรายจากภายนอก อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ สันนิษฐานว่า เมื่อครั้งที่สมัยพม่าเข้าปกครองล้านนา ได้บังคับให้คนเมืองอยู่อาศัยในบ้านที่มีรูปร่างคล้ายโลงศพของพม่า และหำยนต์เปรียบเป็นอัณฑะของพม่า เมื่อเจ้าของบ้านชาวล้านนาและคนในครอบครัวเดินเข้าออกห้องและลอดใต้อัณฑะนั้นก็จะถูกข่มและทำลายจิตใจไม่ให้คิดกระด้างกระเดื่องต่อพม่า ส่วนอาจารย์เฉลียว ปิยะชน อธิบายว่าเมื่อชาวล้านนาจะขายบ้านหรือซื้อบ้านต่อจากเจ้าของบ้านคนเก่า จะทำพิธีด้วยการตีหำยนต์แรงๆ หรืออาจทำลาย เพื่อขจัดความขลัง ถือเป็นการทำให้หมดความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นความเห็นที่ตรงกันกับอาจารย์ ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ ส่วนอาจารย์มณี พยอมยงค์ เห็นว่า หำยนต์ อาจมาจากคำว่า ยันตะ แปลว่า ยันต์ของพระอรหันต์ โดยในลวดลาย ที่แกะสลักบนแผ่นหำยนต์นั้น น่าจะมีคาถาติดอยู่ อาจารย์อุดม รุ่งเรืองศรี สันนิษฐานว่า หำยนต์ น่าจะเรียกว่า หัมยนต์ มากกว่า มาจากคำว่า หัมมิยะอันตะ คำว่า "หัมมิยะ" แปลว่า ปราสาทโล้น หมายถึงเพิงบังแดดชั่วคราว คำว่า "อันตะ" แปลว่า ยอด รวมแล้วแปลความว่า ปราสาทที่ไม่มียอด และท่านเห็นว่าเป็นการทำเพื่อตกแต่งเรือนไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องคาถาอาคม ที่มาของชื่อและความหมายนั้นนับว่ามีข้อคิดเห็นที่หลากหลายนัก

มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งว่าชาวลัวะ (ละว้า) พื้นเมืองเดิมในล้านนา มีหำยนต์เหนือประตูทางเข้าห้องนอนในเรือนกาแลของตนเองเช่นกัน ปัจจุบันมีหลักฐานเรือนลัวะที่หลงเหลือแถบอำเภอแม่แจ่มและอำเภอแม่ลาน้อย ซึ่งกำลังจะหมดไปในไม่ช้า ซึ่งชาวลัวะเหล่านั้นตั้งถิ่นฐานโดดเดี่ยวมานานเกินกว่า ๕๐๐ ปีมาแล้วโดยไม่ได้ผสมผสานไปกับชาติพันธุ์อื่นใด ขณะที่เรือนกาแลของคนเมืองที่พบในเมืองเชียงใหม่และพื้นที่ชนบทโดยรอบนอกเมือง อยู่ภายใต้พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชุมชนที่มีการผสมผสานชาติพันธุ์ของชาวลัวะและชาวไตโยนตามหลักฐานบันทึกของชาวล้านนาโบราณในตำนานและพงศาวดารต่างๆ เมื่อประมาณ ๘ ปีที่แล้ว ผู้เขียนมีโอกาสไปสำรวจเมืองเชียงตุงและหมู่บ้านในชนบทห่างไกลทางทิศตะวันออก ผู้เขียนตื่นตาตื่นใจมากเมื่อพบเรือนกาแลโบราณหลังหนึ่ง แต่รูปแบบเรือนที่ถูกต่อเติมขยายหลายครั้งทำให้ผังเรือนมีความแตกต่างออกไปแต่ก็ยังมีเค้าโครงรูปทรงเรือนกาแลและมีกาแลแกะสลักที่ยอดเรือนดูสวยงาม รวมทั้งมีหำยนต์ สอบถามเจ้าของเรือนผู้มีอายุ ๗๐ กว่าปีซึ่งน่าจะมีเชื้อสายผสมผสานระหว่างชาวไตเขินและชาวลัวะ ได้ความว่า อายุเรือนมีมากกว่า ๘๐ ปี สร้างในสมัยพ่อ และสมัยที่ตนเป็นเด็ก มีเรือนกาแลให้เห็นมากมายหลายหมู่บ้านในแถบพื้นที่นั้น ผู้เป็นเจ้าของเรือนจะเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเท่านั้น ซึ่งตรงกับเจ้าของเรือนกาแลของชาวลัวะในไทย ที่ต้องเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ที่เรียกว่า “ขุนสมาง” และเมื่อเปรียบเทียบกับเรือนชาวลัวะในเมืองลา ใกล้ชายแดนตะวันออกของเมืองเชียงตุงที่ผู้เขียนมีโอกาสไปสำรวจเมื่อปีที่แล้ว พบว่าเรือนชาวลัวะที่นั่นเหมือนกับเรือนชาวลัวะที่แม่ลาน้อยและแม่แจ่ม ต่างกันตรงที่เรือนลัวะที่เมืองลาหลายหลังมีขนาดใหญ่กว่ามาก และไม่ค่อยเห็นการตกแต่งกาแลที่แกะสลักบนยอดจั่ว ส่วนหำยนต์พบว่ามีใช้เหมือนกันแต่ฝีมือการแกะสลักไม่งามเท่า

อย่างไรก็ดีเมื่อตรวจสอบกับข้อเท็จจริงในหลักฐานการดำรงชีวิตของชาวล้านนารวมทั้งชาวลัวะ ชนเผ่าที่มีเรือนกาแลคล้ายกัน สรุปได้ว่า ชาวล้านนาแถบเชียงใหม่และชาวลัวะทางทิศใต้และตะวันตกของเชียงใหม่รวมทั้งในเขตพม่า ทำหำยนต์ขึ้นเป็นส่วนประกอบตกแต่งที่โดดเด่นพิเศษ แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของเจ้าของเรือนและตระกูล โดยใช้กำหนดเขตทางเข้าพื้นที่หวงห้ามส่วนตัว และเกี่ยวพันกับความเชื่อเรื่องพลังอำนาจเร้นลับที่ปกป้องสิ่งชั่วร้ายและดลบันดาลความเป็นศิริมงคลรุ่งเรืองแก่เจ้าของเรือนและคนในเรือน

ที่มา: เชาวลิต สัยเจริญ, ต้นฉบับร่างเพื่อส่งให้ ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำลงตีพิมพ์ในวารสาร มติชน รายสัปดาห์ (ลงแล้ว)

วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ทัศนะจากการศึกษาเรื่องกำเหนิดชนชาติไต (ไท)

ถิ่นกำเนิดชนชาติไต หรือไท The Cradle of the Tai Race


ข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดคนไต หรือคนไทนั้น ส่วนมาก มาจากชาวตะวันตก ซึ่งเป็นผู้สำรวจค้นคว้าด้วยตนเอง เช่นเดินทางไปสำรวจ สอบสวนค้นคว้าด้านภาษา การแต่งกาย ความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ แล้วนำข้อมูลที่ได้จากประจักษ์พยานไปประมวลเป็นงานเขียน (Paper)หรือ ราย งานการสำรวจ (report) หรือบางวิธีก็สืบค้นนำข้อมูลที่ได้จากประจักษ์พยานไปประมวลเป็นงานค้นคว้าของชาวต่าง ประเทศที่เรียบเรียงไว้นั้นเป็นที่อ้างอิง ดังนั้นวิธีการดังกล่าวรวมทั้งการศึกษาค้นคว้าของคนไทยได้ก่อให้เกิดความหลากหลายในทัศนะเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของคนไตหรือคนไท ดังนี้

1.กลุ่มที่เชื่อว่าถิ่นกำเนิดคนไต หรือไท อยู่ในบริเวณมณฑลเสฉวน ประเทศจีน

เตเรียน เดอ ลาคูเปอรี (Albert Étienne Jean Baptiste Terrien De Lacouperie) ศาสตราจารย์ชาวอังกฤษ ประจำมหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์ของอินโดจีน เป็นเจ้าของความคิดนี้ ผลงานของท่านชื่อ The Cradle of the Shan Race (ถิ่นกำเนิดชนชาติไต หรือ ซาน) ตีพิมพ์ พ.ศ.2428 อาศัยหลักฐานจีนโดยพิจารณาความคล้ายคลึงกันทางภาษาของผู้คนในจีนและเอเชียตะ วันออกเฉียงใต้ แล้วสรุปว่า คนเชื้อชาติไตตั้งถิ่นฐานในดินแดนจีนก่อนจีน คือเมื่อ 2208 ปีก่อนคริสตกาล ดังปรากฏในรายงานการสำรวจภูมิประเทศจีน ถิ่นที่อยู่ของคนไทยที่ปรากฏในจดหมายเหตุจีนนี้อยู่ในเขตมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน งานของลาคูเปอรี ได้รับการสืบทอดต่อมาในงานเขียนของนักวิชาการไทย เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประภาศิริ เสฐียรโกเศศ พระยาอนุมานราชธน หลวงวิจิตรวาทการ และศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์

2. กลุ่มที่เชื่อว่าถิ่นกำเนิดคนไตอยู่แถบเทือกเขาอัลไต ทางตอนเหนือของประเทศจีน

เจ้าของความคิด คือ ผู้เผยแพร่ศาสนาชาวอเมริกัน ชื่อ วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ (Dr. William Clifton Dodd) ได้เดินทางไปสำรวจความเป็นอยู่ของชนชาติต่าง ๆ ในดินแดนใกล้เคียงพร้อมทั้งเผยแพร่ศาสนาด้วย ท่านเป็นนักวิชาการตะวันตกคนแรกคนหนึ่งที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของชนชาติไต (one of the first ethnologists of the Tai race) และสะสมข้อมูลเกี่ยวกับ ด้านภาษา การแต่งกาย ความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆของชนชาติไต โดยเริ่มจากที่ประเทศไทย จังหวัดเชียงราย เชียงตุง สิบสองปันนา ยูนนาน จนถึง ฝั่งทะเลกวางตุ้ง ผลจากการสำรวจปรากฏในงานเขียนเรื่อง The Tai Race : The Elder Brother of the Chinese (ชนชาติไตเป็นชนชาติที่เก่าแก่กว่าจีน) ซึ่งเขียนขึ้นในปี พ.ศ.2452 งานเขียนนี้สรุปว่าไต หรือ ไท สืบเชื้อสายจากมองโกล (Mongoloid race) และเป็นชาติเก่าแก่กว่าจีนและฮิบรู งานเขียนของ วิลเลียม คลิฟตัน ดอดด์ ได้รับความสนใจทั้ง ชาวไทยและต่างประเทศ นักวิชาการไทยคนสำคัญที่สืบทอดความคิดของหมอดอดด์ คือ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ได้เขียนงานเขียนชื่อ “หลักไทย” เป็นหนังสือแต่งทางประวัติศาสตร์ ได้รับพระราชทานรางวัลของพระบาทสมเด็กพระปกเกล้าฯ กับประกาศนียบัตรวรรณคดีของราชบัณฑิตยสภา ใน พ.ศ.2471 ในหนังสือ หลักไทย สรุปว่าแหล่งกำเนิดของคนไทยอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไต (แหล่งกำเนิดของมองโกลด้วย) หลักสูตรไทยได้ใช้เป็นตำราเรียนประวัติศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการเป็นเวลานาน แต่ปัจจุบัน แนวคิดนี้ได้รับการยอมรับน้อยมาก

3.กลุ่มที่เชื่อว่าไทมีถิ่นกำเนิดกระจัด กระจายทั่วไปในบริเวณตอนใต้ของจีนและทางเหนือของภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้ ตลอดจนแคว้นอัสสัมของอินเดีย

นักสำรวจชาวอังกฤษ ชื่อ โคลกูฮุน (Archibal R. Colguhon) เป็นผู้ริเริ่มความเชื่อนี้ เขาได้เดินทางจากกวางตุ้งตลอดถึงมัณฑเลย์ในพม่าและได้เขียนหนังสือชื่อ Chrysi เล่าเรื่องการเดินทางสำรวจดินแดนดังกล่าว และเขียนรายงานไว้ว่าพบคนไทในแถบนี้ งานเขียนนี้ตีพิมพ์ในอังกฤษเมื่อ พ.ศ.2428 ผู้เขียนได้รับรางวัลเหรียญทองจากสมาคมภูมิศาสตร์ของอังกฤษ ต่อมาหนังสือเล่มนี้ได้แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสและเยอรมัน ทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายออกไป

นอกจากนี้มีงานค้นคว้าประเภทอาศัยการตีความหลักฐานจีนอีก เช่น งานของ E.H. Parker ปาร์คเกอร์ กงสุลอังกฤษประจำเกาะไหหลำ เขียนบทความเรื่องน่านเจ้า พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2437 โดยอาศัยตำนานจีน บทความนี้พูดถึงอาณาจักรน่านเจ้าเป็นอาณาจักรของคนไทยเฉพาะราชวงศ์สินุโลและ คนไทยเหล่านี้ถูกคนจีนกดดันถึงอพยพลงมาทางใต้ งานของเขียนปาร์คเกอร์ได้รับการสนับสนุนจากทั้งนักวิชาการตะวันตกและจีน (ศาสตราจารย์ติง ศาสตราจารย์ โชนิน ศาสตราจารย์ชุนแชง) และญี่ปุ่น (โยชิโร ชิราโทริ)

งานค้นคว้าที่เดิ่นอีกคืองานของ วิลเลียม เคร์ดเนอร์ (Willian Credner) ซึ่งค้นคว้าเกี่ยวกับยูนนานโดยสำรวจภูมิประเทศและเผ่าพันธุ์ที่ตกค้างในยูนนาน สรุปว่าถิ่นเดิมของชนเผ่าไทควรอาศัยในที่ต่ำใกล้ทะเล เช่น มณฑลกวางสี กวางตุ้ง ส่วนแถบอัลไตคนไทไม่น่าจะอยู่เพราะคนไทชอบปลูกข้าว ชอบดินแดนแถบร้อนไม่ชอบเนินเขา

นอกจากนี้ วูลแกรม อีเบอร์ฮาด (Wolgram E berhard) ชาวเยอรมันผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา และโบราณคดีจีน ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับถิ่นกำเนิดของไทยในงานเขียนชื่อ A History of China (พิมพ์เป็นภาษาเยอรมัน ต่อมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ) สรุปว่าเผ่าไทอยู่บริเวณมณฑลกวางตุ้ง ต่อมาอพยพมาอยู่แถบยูนนานและดินแดนในอ่าวตังเกี๋ย (สมัยราชวงศ์ฮั่น) ได้สร้างอาณาจักรเทียนหรือแถน และถึงสมัยราชวงศ์ถัง เผ่าไทได้สถาปนาอาณาจักรน่านเจ้าขึ้นที่ยูนนาน

งานเขียนของบุคคลเหล่านี้ได้ให้แนวคิดแก่นักวิชาการไทยและต่างประเทศในระยะต่อมา เช่น ยอร์ช เซเดส์ ชาวฝรั่งเศส ได้สรุปว่าชนชาติไต หรือไทอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของจีน แถบตังเกี๋ย ลาว สยาม ถึงพม่า และอัสสัม ส่วนนักวิชาการไทยที่สนใจศึกษาค้นคว้าความเป็นมาของคนไททั้งจากเอกสารไทยและต่างประเทศคือพระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) งานเขียนของท่าน คือ พงศารโยนก ตีพิมพ์ระหว่างปี พ.ศ.2441-2442 งานชิ้นนี้สรุปว่าคนไทมาจากตอนใต้ของจีนและ นักวิชาการไทยอีกท่านหนึ่งคือ จิตร ภูมิศักดิ์ ได้ใช้วิธีการทางนิรุกติศาสตร์ วิเคราะห์ตำนาน พงศาวดารท้องถิ่นทางเหนือของไทยและตรวจสอบกับจารึกของประเทศข้างเคียง เขียนหนังสือ ชื่อ “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และจาม และลักษณะสังคมของชื่อชนชาติ” พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2519 จิตรสรุปว่าที่อยู่ของคนเผ่าไท อาศัยอยู่กระจัดกระจายในบริเวณทางตอนใต้ของจีนและบริเวณภาคเหนือของไทย ลาว เขมร พม่า และรัฐอัสสัมในอินเดีย และให้ความเห็นเกี่ยวกับน่านเจ้าว่า น่านเจ้าเป็นรัฐทางใต้สุด เดิมจีนเรียกอาษาจักรไต - หลอหลอ (น่านเจ้า แปลว่า เจ้าทางทิศใต้)

จะเห็นได้ว่าในบรรดานักวิชาการที่เชื่อว่าอดีตของเผ่าไทอยู่กระจัดกระจายใน บริเวณตอนใต้ของจีนและบริเวณทางเหนือของไทย ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา และรัฐอัสสัม และอินเดีย ต่างก็มีทัศนะที่ต่างกันในรายละเอียด โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับอาณาจักรน่านเจ้าและนักวิชาการกลุ่มนี้เริ่มศึกษาค้น คว้าเรื่องราวของคนไทยโดยอาศัยหลักฐานหลายด้าน ทั้งด้านนิรุกติศาสตร์ มานุษยวิทยา หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี

4. กลุ่มที่เชื่อว่าถิ่นเดิมของไทอยู่บริเวณประเทศไทยปัจจุบัน

พอล เบเนดิคท์ (Paul Benedict) นักภาษาศาสตร์และมนุษยวิทยาชาวอเมริกัน ค้นคว้าเรื่องเผ่าไทโดยอาศัยหลักฐานทางภาษาศาสตร์และสรุปว่า ถิ่นเดิมของไทน่าจะอยู่ในดินแดนประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อประมาณ 4000-3500 ปีมาแล้ว พวกตระกูลมอญ เขมร อพยพมาจากอินเดียเข้าสู่แหลมอินโดจีนได้ผลักดันคนไทให้กระจัดกระจายไปหลายทางขึ้นไปถึงทางใต้ของจีนปัจจุบัน ต่อมาถูกจีนผลักดันจนอพยพลงใต้ไปอยู่ในเขตอัสสัม ฉาน ลาว ไทย และตังเกี๋ย จึงมีกลุ่มชนที่พูดภาษาไทกระจัดกระจายไปทั่ว นักวิชาการไทย นายแพทย์สุด แสงวิเชียร และศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ให้ความเห็นว่าดินแดนไทยปัจจุบันเป็นที่อาศัยของหมู่ชนที่เป็นบรรพบุรุษของไ ทยปัจจุบัน มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และสรุปว่าบรรพบุรุษไทยอยู่ในดินแดนประเทศไท ยมาตลอด เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีได้แสดงถึงความต่อเนื่องทางวัฒนธรรมรวมทั้งการศึกษาเปรียบเทียบลักษณะโครงกระดูกที่ขุดพบ

5. กลุ่มที่เชื่อว่า ถิ่นเดิมของไทอาจอยู่ทางบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หรืออินโดจีน หรือบริเวณคาบสมุทรมลายู และค่อย ๆ กระจายไปทางตะวันตก และทางใต้ของอินโดจีนและทางใต้ของจีน

กลุ่มนี้ศึกษาประวัติความเป็นมาของชนชาติไทยด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์บนรากฐาน ของวิชาพันธุศาสตร์ คือการศึกษาความถี่ของยีนและหมู่เลือดและการศึกษาเรื่องฮีโมโกลบินอี เช่น นายแพทย์สมศักดิ์ พันธุ์สมบุญ ได้ศึกษาความถี่ของยีนและหมู่เลือด พบว่าหมู่เลือดของคนไทยคล้ายกับชาวชวาทางใต้มากกว่าจีนทางเหนือ จากการศึกษาวิธีนี้สรุปได้ว่า คนไทมิได้สืบเชื้อสายจากคนจีน ส่วนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับฮีโมโกลบินอีนั้น นายแพทย์ประเวศ วะสี และกลุ่มนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น สรุปว่า ฮีโมโกลบินอี พบมากในผู้คนในแถบเอเชียอาคเนย์ คือ ไทย ลาว พม่า มอญ และอื่น ๆ สำหรับประเทศไทยผู้คนทางภาคอีสานมีฮีโมโกลบินอีมากที่สุด (คนจีนเกือบไม่มีเลย)

สรุป ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวงการศึกษามีมากขึ้นและมีการแตกแขนงวิชาออกไปมากมาย เพื่อหาคำตอบเรื่องของมนุษย์และสังคมที่มนุษย์อยู่ ทำให้ความรู้และความเชื่อเดิมของมนุษย์ถูกตรวจสอบอย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้ความเชื่อในเรื่องถิ่นกำเนิดของคนไทซึ่งอยู่ที่มณฑลเสฉวนและทาง ภูเขาอัลไตจึงถูกวิพากษ์ถึงความสมเหตุสมผล และเมื่อมีการประสานกันค้นคว้าจากสหวิชาการจึงได้คำตอบในแนวใหม่ว่าคนเผ่าไท เป็นเผ่าที่อยู่กระจัดกระจายในแนวกว้างในบริเวณตอนใต้ของยูนนาน ทางตอนเหนือของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรัฐอัสสัมของอินเดีย พื้นฐานความเชื่อใหม่นี้อาศัยหลักฐานทางประวัติศาสตร์และหลักฐานทางโบราณคดี ทำให้ทราบได้ว่า คนเผ่านี้รู้จักกันในชื่อต่าง ๆ ในแต่ละท้องถิ่น เช่น ไทใหญ่ ไทอาหม ผู้ไท ไทดำ ไทขาว ไทลื้อ ไทลาว ไทยวน เป็นต้น การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดียังสอดคล้องกับการค้นคว้าทางด้านนิรุกติศาสตร์และภาษาศาสตร์ที่พบว่า คนในบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เรียกชนชาติไทว่า ชาม ชาน เซม เซียม ซียาม เสียมบ้าง และในภาษาจีนเรียกว่า ส่าน ส้าน (สำหรับคนไทโดยทั่วไป) และเซียม (สำหรับไทสยาม) และความหมายของคำที่เรียกคนไทก็มีความหมายสอดคล้องกับลักษณะชีวิตทางด้านสัง คมและการทำมาหากินของคนไทยเช่นคำว่า “ส่าน” ซึ่งเป็นคำภาษาจีนเรียกคนไท แปลว่า “ลุ่มแม่น้ำ” ความหมายนี้มีลักษณะสอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของชนชาติไทที่ก่อตั้งชุมชนขึ้นในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำและทำอาชีพกสิกรรม รู้จักทำทำนบหยาบ ๆ พร้อมทั้งคันคูระบายน้ำคือ เหมือง ฝาย รู้จักใช้แรงงานสัตว์และใช้เครื่องมือในการทำนา เช่น จอบ คราด ไถ

ปัจจุบันการศึกษาค้นคว้าเรื่องถิ่นเดิมของชนชาติไท และคนไทยในประเทศไทยปัจจุบัน คือการหันมาให้ความสนใจทางด้านวัฒนธรรมมากกว่าเรื่องเชื้อชาติ เพราะไม่มีเชื้อชาติใดในโลกนี้ที่เป็นเชื้อชาติบริสุทธิ์และยิ่งใหญ่เหนือชน เชื้อชาติอื่น ดินแดนประเทศไทยเป็นทางผ่านที่คนหลายเผ่าพันธุ์ หลายตระกูลเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งรกราก ประเทศไทยเป็นแหล่งสะสมของคนหลายหมู่เหล่าก่อนที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นรัฐประชา ชาติที่เรียกว่าประเทศไทย ดังนั้นการเป็นคนไทจึงควรมองที่วัฒนธรรมไทยมากกว่าเรื่องเชื้อชาติ

ที่มา:
  • http://flash-mini.com/freeweb/view.php?user_id=www.sasuke_panlove0406&id=1726&sub=ข้อมูลเกี่ยวกับชนชาติไต
  • ประวัติศาสตร์และพัฒนาการของตัวอักษรไต, 2004 จายคำเมือง, Sources: The History and Development of the Shan Script, 2004, Sai Kam Mong

วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ประวัติวัดเจดีย์หลวงโดยย่อ

แต่เดิมวัดเจดีย์หลวง ชื่อ “โชติการามวิหาร” แปลว่า พระอารามที่มีแต่ความรุ่งเรืองสว่างไสว เนื่องจากเป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุ และพระธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีเรื่องเล่ากันมาว่า ในกาลครั้งหนึ่ง เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ส่งสมณะทูต 8 รูป ภายใต้การนำพระโสณะ และ พระอุตตะระ เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในเขตสุวรรณภูมิ รวมทั้งภูมิภาคนี้ด้วยได้นำเอาพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ในองค์เจดีย์องค์เล็กสูง 3 ศอก ที่สร้างขึ้น ณ บริเวณอันเป็นที่ตั้งของพระธาตุเจดีย์หลวงในปัจจุบัน ในเวลานั้นมีชายผู้หนึ่ง อายุ 120 ปี มีใจเลื่อมใส ได้แก้เอาผ้าห่มชุบน้ำมันจุดบูชา และได้ทำนายว่า ต่อไปในภายภาคหน้า ตรงนี้จะเป็นอารามใหญ่ชื่อโชติการาม พวกลัวะทั้งหลายที่เอาข้าวของบูชาพระธาตพระพุทธเจ้าได้ก่อเจดีย์หลังหนึ่งสูง 3 ศอกไว้เป็นที่สักการบูชา
นอกจากนี้ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่งของคำว่า “โชติการาม” คือ เวลาที่มีการจุดประทีปโคมไฟไปประดับบูชาองค์พระธาตุเจดีย์หลวง จะปรากฏจะปรากฏแสงสีสว่างไสว มองเห็นองค์พระเจดีย์คล้ายเชิงเทียนที่มีเปลวไฟลุกโชติช่วงสว่างไสว ดูแล้วมีความงดงามยิ่งนัก สามารถมองเห็นได้แต่ไกล ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดเจดีย์หลวง” เนื่องจากในภาษาเหนือ หรือคำเมือง หลวงแปลว่า “ใหญ่” หมายถึง พระธาตุเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่

จุลศัก(พ.ศ. 1874)ราช 289 พระเจ้าแสนภู โปรดให้สร้างเมืองเชียงแสน และต่อมาอีก 4 ปี ทรงสร้างมหาวิหารขึ้นในท่ามกลางเมืองเชียงแสน คือวัดเจดีย์หลวงซึ่งอยู่ในวัดพระเจ้าตนหลวง เมืองเชียงแสน สมัยพระเจ้าแสนเมืองมาซึ่งเป็นโอรสของพระเจ้ากือนา ขณะที่มีพระชนมมายุ 39 ปี พระองค์โปรดให้สร้างพระเจดีย์หลวงกลางเมืองเชียงใหม่อีกองค์ แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จดีก็ทรงสวรรคต พระราชินีผู้เป็นอัครมเหสีของพระองค์ ได้โปรดให้ทำยอดพระธาตุเจดีย์หลวงจนแล้วเสร็จ

ปี พ.ศ. 2055 พระราชา (พระเมืองแก้ว) พร้อมด้วยชาวเมืองทั้งหลาย เอาเงินมาทำกำแพงล้อมพระธาตุเจดีย์หลวง 3 ชั้นได้เงิน 254 กิโลกรัม จากนั้นจึงได้เอาเงินมาแลกเป็นทองคำจำนวน 30 กิโลกรัม แล้วแผ่เป็นแผ่นทึบหุ้มองค์พระธาตุเจดีย์หลวง เมื่อรวมกับทองคำที่หุ้มองค์พระเจดีย์หลวงอยู่เดิม ได้น้ำหนักทองคำถึง 2,382.517 กิโลกรัม

ประมาณ พ.ศ. 2088 สมัยพระนางจิระประภามหาเทวี ได้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเชียงใหม่ จึงทำให้ยอดพระเจดีย์หลวงหักพังทลายลงมา หลังจากนั้นพระเจดีย์หลวงจึงถูกทิ้งให้ร้างมานานกว่า 400 ปี กระทั่งปี พ.ศ. 2423 พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ได้รื้อพระวิหารหลังเก่าและสร้างวิหารหลวงขึ้นใหม่ด้วยไม้ทั้งหลัง

ช่วงปี พ.ศ. 2471-2481 สมัยพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย ถือได้ว่าเป็นทศวรรษแห่งการบูรณะครั้งสำคัญของวัดพระเจดีย์หลวง ได้มีการรื้อถอนสิ่งปรักหักพัง แผ้วถางป่าที่ขึ้นปกคุลมโบราณสถานต่างๆ ออก แล้วสร้างเสริมเสนาสนขึ้นใหม่ให้เป็นวัดสมบูรณ์แบบในเวลาต่อมาพระเจดีย์หลวง ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่โดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2533 ใช้งบประมาณในการบูรณะถึง 35 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2535

วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หอคำ

หอคำ เป็นสิ่งที่ออกแบบปลูกสร้างโดยช่างชำนาญในวัง (สล่าหลวง) พบว่ามีการใช้คำนี้ในสายวัฒนธรรมไทยยวน ไตลื้อ ไตขึน และไตใหญ่ เป็นต้น เป็นอาคารที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย หรือ เป็นที่ว่าการและต้อนรับแขก ของพญา กษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงในราชสำนัก เท่าที่ผู้เขียนทราบ มีหอคำโบราณที่สร้างด้วยไม้ ที่หลงเหลืออยู่ในเชียงใหม่หนึ่งแห่ง คือ วิหารวัดพันเตาในเมืองเชียงใหม่ เป็นหอคำของพระอุปราชเจ้ามโหตรประเทศ มีหอคำผู้ครองนครลำปางอีกหนึ่งหลังที่ถูกรื้อไปสร้างใหม่ที่เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ และพบมีหอคำเก่าที่เมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา ที่เหลือที่มีการเรียกแต่ต่างลักษณะ เป็นหอคำที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาไม่เกินร้อยกว่าปี ที่มีรูปแบบผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกและรัตนโกสินทร์ เช่น หอคำผู้ครองนครน่าน


หอคำสร้างด้วยไม้สักชั้นดี ยกพื้นอาคารสูงเหมือนกับเรือนและตำหนักทั่วไป เพื่อสุขะอนามัย และป้องกันสัตว์ร้ายและศัตรู หอคำของพญามหากษัตริย์ชั้นสูงจะมีขนาดใหญ่ และลดหลั่นขนาดกันลงมาตามฐานันดรศักดิ์ ใช่ว่าเชื้อพระวงศ์ทุกคนจะมีหอคำ เฉพาะผู้มีตำแหน่งสำคัญชั้นสูงเท่านั้นและต้องเป็นผู้ชาย คือ กษัตริย์ พระอุปราช และ เจ้าเมือง เป็นต้น หอคำเกี่ยวเนื่องกับอำนาจและบทบาททางการเมือง จึงมีการใช้งานเหมือนท้องพระโรงหรือที่ประชุม ปรึกษา ว่าราชการ ขณะเดียวกันเป็นที่อยู่อาศัยได้ด้วย



โครงสร้างของหอคำในภาคเหนือและที่สิบสองปันนาเท่าที่มีหลักฐาน พบว่ามีพื้นฐานของรูปแบบโครงสร้างมาจากเรือนพักอาศัย หากหอคำมีขนาดใหญ่จะใช้โครงสร้างแบบเทคนิคการถ่ายเทน้ำหนักที่เรียกว่า "ม้าต่างไหม" อันเป็นภูมิปัญญาเฉพาะด้านการก่อสร้างของชาวไตลื้อและไตยวนโบราณ หอคำที่เก่ามากๆ จะมีระนาบหลังคาจั่วเรียบง่ายไม่ซับซ้อน มีลักษณะเป็นจั่วแฝด คล้ายเรือนกาแล หอคำหลังยุคทองของล้านนาลงมา มีรูปแบบเหมือนวิหารแต่ยังมีการยกพื้นอาคารสูง วิหารวัดพันเตาในเมืองเชียงใหม่ที่เป็นหอคำเดิม เมื่อถูกนำมาถวายวัด มีการตัดเสาหอคำ และตั้งเสาบนฐานก่ออิฐสอปูน และขยับโครงสร้างผนังและหลังคา ทำให้สัดส่วนและลักษณะเป็นแปลงไป



วัดในวัฒนธรรมไตยวน ในพื้นที่ตอนล่างลุ่มน้ำโขงลงมา แต่โบราณมีส่วนประกอบสำคัญในผังเพียง เจดีย์ วิหาร และอุโบสถ โดยที่วิหารเป็นวิหารโถงไม่มีผนังปิดล้อมเหมือนปัจจุบัน อุโบสถไม่ได้มีทุกวัด และมีขนาดเล็ก ไม่ได้มีการใช้งานบ่อยเหมือนเช่นวิหาร เมื่อคนในชุมชนและเมืองมีจำนวนมากขึ้น ขนาดของอาคารต่างๆ จึงต้องขยายให้ใหญ่รองรับผู้คนได้ ศาลารายหรือศาลาบาตร จึงมีความจำเป็นและถูกสร้างขึ้นมาในสมัยหลัง ฉะนั้น หอคำและวิหารในสมัยโบราณจึงมีความแตกต่างกันที่ วิหารไม่มีผนัง ส่วนหอคำมีผนังแบบไม้ประกนที่เรียกว่า "ฝาตาผ้า" เนื่องด้วยหอคำมีการใช้งานโดยผู้คนมากกว่าและเกือบตลอดเวลา จึงต้องการความเป็นส่วนตัวและการป้องกันด้านภูมิอากาศ โดยเฉพาะฤดูหนาว การที่วิหารในสมัยหลังมีการก่อผนังโดยรอบ เพราะวิหารถูกนำมาใช้เป็นที่จำวัด จำพรรษาของภิกษุบางรูปในสมัยหลัง และเมื่อสังคมเปลี่ยนไป ความต้องการการเป็นส่วนตัว และความต้องการการป้องกันโจรโขมยของมีค่าต่างๆ ในวิหาร จึงถือเป็นความจำเป็น

วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553

ประวัติวัดดวงดี โดยย่อ

วัดมีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่-งาน 60 ตารางวา ซึ่งประวัติของวัดไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัดนัก แต่ตามหลักฐานที่ทางอดีตเจ้าอาวาส (พระอธิการบุญชู อภิปุญฺโญ) ได้ขอให้คุณปวงคำ ตุ้ยเขียว ค้นคว้าและเรียบเรียงประวัติวัดดวงดี เพราะเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของนครเชียงใหม่ วัดดวงดีมีหลายๆ ชื่อ เช่น วัดพันธนุนมดี วัดอุดมดี วัดพนมดี ในปี พ.ศ.2513 คุณปวงคำได้เป็นผู้ช่วยวิจัยในโครงการวิจัยคำจารึกบนฐานพระพุทธรูป ในตำบลศรีภูมิกับตำบลพระสิงห์ โดยมี ดร.ฮันส์ เพนธ์ เป็นหัวหน้า ซึ่งได้พบคำจารึกบนฐานพระพุทธรูปโลหะองค์หนึ่ง ประดิษฐานอยู่ในวิหาร จารึกด้วยอักษรไทยยวน มีความว่า

"สกราชได้ 859 ปีวายสี พระเจ้าตนนีแสนนืงไว้วัดต้นมกเหนือ"
(จ.ศ.858 พ.ศ.2039 สมัยพระเจ้ายอดเชียงรายครองเมืองเชียงใหม่)

พระพุทธรูปองค์นี้ถ้าไม่มีผู้นำมาจากที่อื่น แต่สร้างขึ้นในวัดนี้ หมายความว่าวัดดวงดีต้องสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2039 วัดดวงดีมีชื่อเรียกอีกอย่างคือ วัดต้นมกเหนือ หรือวัดต้นหมากเหนือ สร้างขึ้นภายหลังที่พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว และคงมีเจ้านายเมืองเชียงใหม่คนหนึ่งเป็นผู้สร้าง ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงวัดดวงดี เมื่อ พ.ศ.2304 พระภิกษุวัดนี้ ได้รับนิมนต์ให้ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่เชียงใหม่เป็นอิสระ ก่อนที่พม่าจะกลับเข้ามาปกครองอีกครั้งหนึ่ง (พ.ศ. 2306 - 2317) ลุจุลศักราช 1136 ในปีพ.ศ. 2317 พระเจ้ากาวิละ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรี สามารถยึดเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่าได้ เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 15 ค่ำ เดือนห้าเหนือ เมืองเชียงใหม่จึงเจริญรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบัน วัดนี้เคยใช้เป็นสำนักเรียนสำหรับลูกเจ้าขุนมูลนายในสมัยก่อน และยังเคยถูกใช้เป็นสถานที่เรียนของนักเรียนยุพราชวิทยาลัยก่อนที่จะมีการก่อสร้างแล้วเสร็จอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2362 สมัยพระญาธรรมลังกา เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 2 ได้มีการบูรณะและฉลองสมโภช ภายในวัดมีวิหารและหอธรรม ประดับด้วยไม้แกะสลักปิดทองที่สวยงาม
 
ปูชนียสถานที่สำคัญของวัดซึ่งเป็นมรดกล้ำค่า โดยกรมศิลปกรได้ประกาศขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถานแห่งชาติ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 76 ตอนที่108 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 รวม 4 รายการ คือ


๑. วิหาร จากหนังสือประวัติวัดดวงดี พิมพ์เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๕ กล่าวว่าแม่เจ้าจันทน์หอมเป็นผู้คิดสร้าง แต่ไม่ทราบปีที่สร้าง แต่พระเทพวรสิทธาจารย์ อดีตเจ้าคณะเชียงใหม่ รูปที่ 8 เมื่อครั้งดำรงสมศักดิ์เป็น เจ้าคุณอุดมวุฒิคุณ รองเจ้าคณะเชียงใหม่ บอกว่าเจ้าอินทรวโรรสสุริยวงศ์ (น้อยสุริยะ) เป็นผู้สร้าง แต่ไม่ปรากฏปีสร้างแน่ชัด ในปี พ.ศ. 2549 กรมศิลปกร ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ตามรูปแบบเดิม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชย์ครบ 60 ปี และทรงพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในปี พ.ศ. 2550 ลักษณะวิหารเป็นวิหารแบบล้านนา ที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมต้นรัตนโกสินทร์ คุณค่าของวิหารแห่งนี้อยู่ที่ลวดลายแกะสลักไม้ประดับสถาปัตยกรรม เช่น ค้ำยันหูช้างแกะเป็นลวดลายสวยงาม รวมทั้งลวดลายแกะสลักเหนือกรอบประตูทางสถาปัตยกรรม

๒. อุโบสถ ไม่ปรากฏปีที่สร้างและผู้ที่สร้าง ลักษณะเป็นแบบพื้นเมืองล้านนาที่มีแบบอย่างทางสถาปัตยกรรมและลวดลายประดับตกแต่งที่งดงาม รูปทรงโบสถ์มีขนาดเล็กหลังคาซ้อนชั้นแบบล้านนา๒ ชั้น หน้าบันและลวดลายตกแต่งแกะสลักปิดทองประดับกระจก ค้ำยันหูช้างแกะสลักไม้เป็นลวดลาย มีใบเสมาปักโดยรอบ

๓. พระเจดีย์ หนังสือประวัติวัดดวงดีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ กล่าวว่าพระมหาเกสระอดีตเจ้าอาวาสเป็นผู้คิดสร้างไม่ปรากฏปีที่สร้าง ลักษณะสำคัญของพระเจดีย์องค์นี้คือ ฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จมีช้างที่มุมทั้ง ๔ แต่เข้าใจว่ามาเพิ่มเติมทีหลังเพราะลักษณะไม่สัมพันธ์กับองค์เจดีย์ ถัดฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จขึ้นไปเป็นชีพมาลัยเถา ๘ เหลี่ยม องค์ระฆังกลม บัลลังก์ ปล้องไฉน และปลียอด
๔. หอไตร ทำเป็นทรงแบบมณฑป มีหลังคาย่อ ซ้อนกัน 3 ชั้น หน้าต่างทำเป็นซุ้มอยู่โดยรอบ จากสมุดข่อย “ปั๊บหลั่น” ที่บันทึกด้วยอักษรไทยยวนกล่าวว่าเจ้ามหาอุปราชมหาวงศ์ เป็นผู้สร้างเมื่อ จ.ศ. ๑๑๙๑ (พ.ศ. 2372) สร้างเดือน 7เหนือ แรม 11ค่ำ หลังจากสร้างหอไตรถวายวัดดวงดีเสร็จ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ องค์ที่ 5 ของเชื้อเจ้า 7 องค์ ลักษณะทรวดทรงเป็นหอไตรทรงมณฑปที่เป็นแบบพื้นเมืองล้านนา ตัวหอไตรทรงสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน ส่วนหลังคาหรือยอดเป็นทรงมณฑปหลังคาซ้อนลดหลั่นกัน ๓ ชั้นประดับด้วยลวดลายตรงบริเวณสันหลังคา

นอกจากนั้นอาคารกุฏิครึ่งปูนครึงไม้ เป็นอาคารเก่าที่มีคุณค่าอีกอาคาร สร้างใน ปี พ.ศ. 2473 โดยพระอธิการอินตา

วัดดวงดีมีพระพุทธรูปซึ่งถือว่าเก่าแก่อยู่คู่กับวัด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยเจ้านายเมืองเชียงใหม่คนใดคนหนึ่ง แต่ไม่ทราบนามโดยชัดเจน ประมาณในปี พ.ศ. 2039 โดยความที่พระพุทธรูปองค์นี้อยู่คู่กับวัดดวงดีมาเป็นเวลาช้านาน จึงเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป โดยมักเข้ามากราบนมัสการขอพร ตามคติความเชื่อที่ว่าจะให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างปกติสุข จึงได้ชื่อว่าพระพุทธรูปดวงดี ตามนามของวัด
อ้างอิง:
  • หนังสือประวัติวัดดวงดี, 2515
  • ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และ ศูนย์วัฒนธรรม สถาบันราชภัฏจังหวัดเชียงใหม่. 2535. วัดสำคัญของนครเชียงใหม่. เล่ม 1. เชียงใหม่ : ส ทรัพย์การพิมพ์.

ประวัติวัดปันเส่าโดยย่อ

วัดปันเส่า ( คำว่า เส่า เป็นภาษาล้านนา หมายถึงเตาสำหรับหลอมโลหะ คำว่า ปัน เป็นการนับจำนวนของชาวล้านนา หมายถึง จำนวน ๑,๐๐๐) ตามประวัติศาสตร์ที่พบจากจารึกต่าง ๆ พบว่า วัดปันเสา เป็นวันที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์มังราย โดยเริ่มก่อสร้างในรัชสมัยของพญาผายูถึงรัชสมัยของพญากือนา โดยได้สร้างองค์เจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งเป็นเจดีย์ขนาดเล็กไม่ใหญ่นัก ต่อมาในสมัยของพญาเมืองแก้ว ทรงมีความดำริที่จะหล่อพระพุทธรูปเจ้าเก้าตื้อ จึงมีบัญชาให้กับนายทหารที่มีฝีมือทางการช่างชื่อปู่ด้ง ได้ไปเสาะหาสถานที่สำหรับหล่อพระพุทธรูป ปู่ด้งจึงเสาะหาตามบัญชา และพบว่าด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ มีชัยภูมิที่มีความเหมาะสมและเป็นมลคงเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากบริเวณนี้มีน้ำไหลผ่านซึ่งเป็นน้ำที่ไหลมาจากน้ำตกห้วยแก้ว ไหลลงสู่คูเมืองเชียงใหม่ (แด่เดิมไหลผ่านกลางวัดปัน ปัจจุบันได้แห้งไปหมดแล้ว) พญาเมืองแก้ว จึงได้ให้นายช่างทอง ทำการก่อเตาเส่า (เตาหลอมโลหะ) ในบริเวณนี้ จำนวน ๑,๐๐๐ เตา แล้วหลอมโลหะหล่อพระพุทธรูปเป็น ๙ ท่อน และได้ทำการเคลื่อนย้ายจากบริเวณนี้ ไปประกอบเป็นองค์พระพุทธรูปที่อุทยานบุพพาราม (วัดสวนดอกในปัจจุบัน) และสถาปนาชื่อพระพุทธรูปว่า พระพุทธรูปเก้าตื้อ ( คำว่าตื้อ หมายถึง ท่อน คือ พระมีจำนวน ๙ ท่อน หรือ ๙ ส่วน) บางแห่งเขียนบอกว่าเป็นจำนวนนับน้ำหนักของคนล้านนาโบราณ (ตื้อ เท่ากับ สิบ โกฎิ) หลังจากนั้นพญาเมืองแก้ว ก็มีบัญชาสั่งให้นายช่างทำการลื้อเตาส่าทั้งหมด และได้ก้อนอิฐเป็นจำนวนมาก จึงได้ทำการบูรณองค์เจดีย์เดิมของวัด ซึ่งใช้วิธีการสร้างเจดีย์ครอบเจดีย์เดิมอีกชั้นหนึ่ง มีลักษณะเป็นศิลปะล้านนาผสมสุโขทัย และล้านช้าง และได้สถาปนาชื่อวัดว่า “วัดเจดีย์ปันเส่า” วัดเจดีย์ปันเส่ามีความเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ ต่อมาเมื่อพม่าได้เข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ ทำให้วัดเจดีย์ปันเส่าถูกเผาเสียหายทั้งหมด เนื่องจากเสนาสนะทั้งหมดของวัดสร้างด้วยไม้สัก คงเหลือแต่องค์เจดีย์เท่านั้นที่ไม่ถูกทำลาย แต่ก็ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ต่อมาก็มีมารศาสนาได้ลักขุดหาสมบัติภายในองค์เจดีย์ไปจนหมด และร้างนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และคงเหลือแต่องค์เจดีย์ปันเสาเพียงองค์เดียวที่เป็นโบราณสถานระบุว่าเคยเป็นบวิเวณวัดในอดีต ต่อมาสถานที่แห่งนี้ ได้ใช้เป็นที่เลี้ยงช้างทรงของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย และช้างทรงของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี (พระราชายาในรัฐกาลที่ ๕) (ได้มาจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ภายในชุมชนแจ่งหัวริน และชุมชนบ้านป่าพร้าวนอก) จากนั้นก็มีการออกโฉนดที่ดินให้กับวัด โดยมีพื้นที่ทั้งหมด ๒ ไร่ ๒ งาน ๘๒ ตารางวา (ซึ่งพื้นที่อื่น ๆ ของวัดได้ถูกบุกรุก และกลายเป็นที่ดินเอกชน รวมทั้งบางส่วนกลายเป็นที่ราชพัสดุเนืองจากไม่มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงว่าเป็นที่ดินของวัดแต่เดิม) หลังจากนั้นก็มีการแผ่วถางบริเวณเพื่อที่จัดสร้างเป็นโรงพยาบาลสวนดอก (โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ในปัจจุบัน) ต่อมาโรงพยาบาลสวนดอกมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก พื้นที่บริเวณวัดจึงไม่เพียงพอที่จะขยาย โรงพยาบาลสวนดอกจึงได้ย้ายออกไปสร้างในสถานที่แห่งใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หลักจากนั้นศูนย์มาลาเรีย เขต ๒ เชียงใหม่ ได้ทำการขอเช่าที่ดินของวัดกับ กรมการศาสนาในสมัยนั้น ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ ทางศูนย์มาลาเรีย เขต ๒ เชียงใหม่ ได้บอกคืนพื้นที่ของวัดให้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ ทางคณะสงฆ์จึงได้มอบหมายให้พระเทพวรสิทธาจารย์ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ ประธานมูลนิธิพระบรมธาตุดอยสุเทพ ฟื้นฟูให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมอบหมายให้พระมหาอาวรณ์ ภูริปญฺโญ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งริเริ่มจัดตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดปันเสา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะสร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับศรัทธาประชาชนโดยทั่วไป และสร้างเป็นสถานที่สำหรับรองรับพระสงฆ์ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมารับการรักษาพยาบาลที่ตึกสงฆ์ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ แต่ไม่มีที่พักก็จะใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่พักชั่วคราว และจะสร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปัจจุบันนี้กำลังมีการก่อสร้าง “วิหารจันทรสถิตมหาทานบารมีศรีชัยมงคล” (เปี่ยม-เอี่ยม จันทรสถิตย์) และมีการระดมทุนทรัพย์เพื่อก่อสร้างอาคารที่พักรับรองพระสงฆ์จำนวน ๒ หลัง โดยจะใช้เป็นสถานที่รับรองพระสงฆ์จากทั่วสารทิศที่เดินทางมาเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ตึกสงฆ์โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งจะใช้ปัจจัยในการก่อสร้างทั้งหมด ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ยี่สิบล้านบาท) ศรัทธาประชาชนทุกท่านสามารถร่วมเป็นเจ้าภาพในการสร้างวัดแห่งนี้ได้ โดยวัดแห่งนี้จะเป็นวัดเพื่อพระสงฆ์อาพาธจากทิศทั้ง ๔ จะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ผู้ใดพยาบาลภิกษุผู้อาพาธ ผู้นั้นเปรียบเสมือนอุปัฏฐากเราตถาคต”

ที่มา: http://watpansao.in.th/

ประวัติวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) โดยย่อ

วัดอุโมงค์ หรือ สวนพุทธธรรม สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๔ เป็นวัดเก่าที่พระเจ้ามังรายทรงโปรดให้สร้างขึ้น ณ บริเวณป่าไผ่ ๑๑ กอ เพื่อให้เป็นที่พำนักของพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสีจากลังกา ๕ รูป โดยยึดแบบแผนของลังกาเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเขตพุทธาวาส สังฆวาส หรือ รูปทรงเจดีย์ ต่อมารัชกาลที่ ๙ พระเจ้ากือนา ได้ทรงบูรณะองค์เจดีย์ให้โตขึ้น และสร้างอุโมงให้เป็นที่พำนักของ
มหาเถรจันทร์ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๓๐ แล้วทรงขนานนามวัดว่า วัดเวฬุกัฏฐาราม ซึ่งหมายถึงไผ่ ๑๑ กอ แต่ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกว่าวัดอุโมง ค์เถรจันทร์
สิ้นสมัยพระเจ้าติโลกราช วัดอุโมงค์ไม่ได้รับการดูแล หรือบูรณะเหมือนในสมัยก่อน ๆ วัดจึงกลายเป็นวัดร้างไป โดยไม่ปรากฏหลักฐานชัดว่าเริ่มร้างจริงๆ เมื่อไร
พ.ศ. ๒๔๙๐ มีพุทธมามกะกลุ่มหนึ่งร่วมกันก่อตั้งพุทธนิคมขึ้น และได้อาราธนาพุทธทาสภิกษุ แห่งสวน
โมกขพลาราม ขึ้นมาแสดงธรรมในเชียงใหม่ ๑๕ วัน และในปีรุ่งขึ้นชาวพุทธนิคมไปเชิญปัญญานันทภิกขุ มาประจำที่เชียงใหม่ และเทศนาโปรดชาวเมืองทุกวันอาทิตย์ และ
วันพระ ต่อมาชาวพุทธนิคม ได้พากันไปบูรณะบริเวณวัดอุโมงค์ ซึ่งร้างมานานนั้นขึ้นเป็น “สวนพุทธธรรม”
และเป็นสำนักงานของหนังสือพิมพ์ “ชาวพุทธ” วารสารรายเดือน ซึ่งเริ่มออกใน พ.ศ. ๒๔๙๕
ประวัติความเป็นมา
นอกจากบูรณะเจดีย์เก่า อุโมงค์เก่า พระพุทธรูปเก่า ให้คงสภาพดีดังเดิมแล้วยังได้สร้างศาลา กุฏิ ห้องสมุด และอาคารที่จำเป็นต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จนวัดอุโมงกลับคืนสภาพเป็นวัดที่สมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง

ที่มาของข้อมูล: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และ ศูนย์วัฒนธรรม สถาบันราชภัฏจังหวัดเชียงใหม่. 2535. วัดสำคัญของนคร
เชียงใหม่. เล่ม 3. เชียงใหม่ : ส ทรัพย์การพิมพ์.

วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ใจบ้าน, ใจเมือง, สะดือเมือง, เสื้อเมือง: รูปธรรมลัทธิความเชื่อผีล้านนา

หลักฐานที่อ้างอิงได้เก่าที่สุดจากบันทึกของตำนานและโบราณสถาน พบว่าก่อนอาณาจักรล้านนา และย้อนไปต้นอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ ราวปี พ.ศ.๑๔๕๔ พระมหากัสสะปะเถระและพระเจ้าอุชุราช กษัตริย์นครโยนกนาคพันธุ์ ได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาโดยกำหนดสร้างพระธาตุดอยตุง เป็นสัญลักษณ์ ท่ามกลางไพร่ไทชาวไตโยนและพี่น้องชาวลัวะ (ละว้า) ที่ร่วมอยู่อาศัยในอาณาจักรเดียวกัน โดยได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) บรรจุในพระเจดีย์ธาตุบนดอยตุง ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานที่มีการสร้างพระธาตุที่เก่าแก่กว่านี้ ในสมัยนั้นลัทธิความเชื่อผียังเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ทั้งลัทธิความเชื่อผีของชาวลัวะพื้นถิ่นเดิม และลัทธิความเชื่อผีของชาวไตโยน

การศึกษาในลัทธิความเชื่อผีของชาวลัวะและชาวล้านนาในสมัยหลัง เป็นหลักฐานอันดีที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาความเชื่อที่รักษาวัฒนธรรมประเพณีของสังคมท้องถิ่นไว้ได้เป็นอย่างดี ชาวลัวะมีความเชื่อเรือ่งผีน้อยใหญ่ ผีใหญ่ที่สุดที่เซ่นไหว้ มีหลักฐานปัจจุบันที่ยังหลงเหลือ คือ การเลี้ยงผี "สะไปว์ตะยวง" ซึ่งจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าในหมู่บ้านชาวลัวะแถบแม่แจ่มและแม่ลาน้อยกล่าวว่า เป็นประเพณีดั้งเดิมที่จะจัดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนผู้นำ และเชื่อกันว่า การเลี้ยงผีใหญ่นี้จะทำให้ชาวบ้านอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และผีที่พวกเขานับถือจะคุ้มครองให้ปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ โดยจุดทำพิธีจะอยู่ที่ศาลผีซึ่งมีเสาสะกัง หรือเสาสักการะที่ลานด้านหน้าหรือใจกลางหมู่บ้าน เสาสะกังเป็นเอกลักษณ์ประจำผู้นำหมู่บ้าน หนึ่งต้นต่อหนึ่งผู้นำ มีการแกะสลักลำต้นไม้ที่นำมาทำเสาอย่างพิเศษสวยงาม แตกต่างกันไปตามแต่ละหมู่บ้าน ในสมัยก่อนตั้งเมืองเชียงใหม่นั้น พื้นที่เดิมเป็นเมืองนพบุรีของชาวลัวะ ๙ หมู่บ้าน การสร้างเมืองเชียงใหม่ของพญามังราย ได้มีกุศโลบายรวมเสาทั้งหมดเข้าสู่จุดศูนย์กลางเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า "เสาอินทขิล" เป็นคติการสร้างที่หมายเมือง (land mark) ที่สอดคล้องกับคติการสร้างเมืองของไตโยนแห่งโยกนาคนครเดิม ที่กำหนดศูนย์กลางเมืองเป็นสะดือเมือง พัฒนาการของคติเช่นนี้ได้ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และส่งผลพลังที่ยิ่งใหญ่ทางนามธรรมต่อจิตใจของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ให้มีศูนย์รวมจิตใจและเสริมสร้างความสามัคคี นับแต่เมื่อแรกสร้างเมือง

คติการปักเสาศักดิ์สิทธิ์กลางหมู่บ้านเพื่อการสักการะนี้ มีพัฒนามาเนิ่นนานเกินกว่า ๒,๐๐๐ ปีที่แล้ว ชนชาติไตทางตอนเหนือของดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ และแถบลุ่มน้ำโขงที่อยู่สูงขึ้นไป รวมทั้งชาวลัวะบนเขาในพื้นที่ใกล้เคียง ต่างมีเสาสักการะกลางหมู่บ้านเช่นกัน แต่แตกต่างทางวัฒนธรรมและอยู่อาศัยคนละแห่งไม่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน จวบจนยุคสมัยการแผ่อิทธิพลของกุบไลข่านจากมองโกลลงมายังดินแดนตอนใต้ของประเทศจีนปัจจุบัน อันเป็นที่อยู่อาศัยของชาวไต เผ่าต่างๆ นำโดยไตลื้อ ไตยวน ไตใหญ่ ชาวลัวะ และชาวเขาบางเผ่า รวมพลังต่อต้านการรุกรานของกุบไลข่านผู้กระหายอำนาจในเวลานั้นจนสำเร็จ ทำให้เริ่มมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน มีการช่วยเหลือกัน แม้แต่ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านั้นที่มีการขับไล่กรอม (ขอม) ออกไปจากดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง ก็ได้อาศัยความร่วมมือร่วมใจของชาวไตลื้อ ไตโยน ลัวะ และอาจรวมถึงชาวข่าเผ่าต่างๆ ทำให้วงศ์ลาว (ราชวงศ์ลวจังกราช) ได้เกิดขึ้น ได้เชื่อมต่อพัฒนาการของราชวงศ์สิงหนวัตที่สัมพันธ์กับชาวไตโบราณทางตอนเหนือมาสร้างดินแดนใหม่ลุ่มน้ำโขง ณ เมืองสุวรรณโคมคำ สืบต่อถึงการตั้งแคว้นหิรัญนครเงินยวง (หิรัญนครเงินยาง) อันเป็นแคว้นที่ประสูติของพญามังรายมหาราช ขณะเดียวกันลูกหลานไตต้นราชวงศ์ลาวก็ได้แผ่ขยายไปในดินแดนชวา (ภายหลังคือหลวงพระบาง) จนมีการรวบรวมผู้คนและแว่นแคว้นขึ้นในลุ่มน้ำโขง น้ำคาน และน้ำอู โดยพระเจ้าฟ้างุ้ม ก่อตั้งอาณาจักรล้านช้าง ณ ดินแดนริมน้ำโขง มีหลวงพระบางเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๖ – ๑๙๖๑ โดยการสนับสนุนของกษัตริย์ขอมผู้เป็นพ่อตา หลังจากนั้นจึงเริ่มรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาแทนการนับถือผี

ชาวไตโบราณหลายเผ่าในยูนนาน โดยเฉพาะชาวไตใหญ่ และ ไตลื้อที่เป็นบรรพบุรุษสาขาใหญ่ของชาวไตลุ่มแม่น้ำโขงและของชาวไตโยน ได้มีลัทธิความเชื่อผีมาก่อนแล้ว ในหมู่บ้านมีข่วงใจบ้าน หมายสัญลักษณ์ไว้ด้วยหินหรือเสาไม้เนื้อแข็ง อันเป็นที่สิงสถิตของเหล่าอาฮักษ์บรรพุรุษ คติการสร้างใจบ้านและใจเมืองจึงมีมานานเนิ่นแล้ว แม้ปัจจุบันก็ยังสามารถพบหลักฐานของเสาใจบ้านใจเมืองเหล่านั้นได้ทั้งในเขตยูนนาน ในเขตรัฐฉาน ในอัสสัม ในล้านนา ในเวียดนามแถบลุ่มแม่น้ำดำแม่น้ำแดง และในลาว แต่ในลาวและเวียดนามอาจพบว่ามีการสูญหายไปมากเนื่องด้วยผลกระทบทางด้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

คำว่า "สะดือเมือง" ได้ปรากฏมีในตำนานต่างๆ ในล้านนา ที่กล่าวถึงหลักฐานเก่าที่สุดที่บันทึกกล่าวถึงการหมายกลางเมืองด้วยการกำหนดเอาต้นเงินยวงในเมืองเงินยวงเป็นศูนย์กลางเมืองใหม่ ภายหลังจากการล่มของเวียงโยนกนาคพันธ์ จวบจนเมื่อมีการสร้างเมืองใหม่ที่สำคัญในสมัยพญามังราย ได้แก่เมืองเชียงราย เมืองไชยปราการ เมืองพร้าว เป็นต้น พบว่าได้มีการกล่าวถึงการกำหนดสะดือเมือง และใจเมือง ด้วยการหมายตำแหน่งบนยอดดอย และการปลูกหรือยึดตำแหน่งต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ หรือปักเสาสักการะ เป็นเสื้อเมือง คตินี้เป็นแบบอย่างของคติชาวไตลื้อ ไตโยน และไตหลายเผ่า พบเห็นได้ทั่วไปทั้งในระดับหมู่บ้านเล็กๆ จนถึงระดับเมือง เช่น หมู่บ้านไตลื้อในสิบสองปันนา หมู่บ้านไตเขินในเชียงตุง หมู่บ้านไตโยนในเชียงใหม่ เป็นต้น ส่วนระดับเมืองได้แก่ เมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ่ง เมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) เมืองเชียงใหม่ เป็นต้น

คติความเชื่อว่าเมืองเหมือนมนุษย์ของชาวล้านนา ทำให้เมืองมี หัวเมือง ใจเมือง สะดือเมือง ตีนเมือง ที่สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องทิศ นักวิชาการจำนวนมากลงความเห็นว่า ลัทธิพราหมณ์-ฮินดู ที่มีอิทธิพลต่อชาวลัวะพื้นถิ่นในช่วงสมัยหริภุญชัยและก่อนหน้านั้น มีบทบาทต่อความเชื่อดังกล่าว สันนิษฐานว่าได้รับมาจากคติการสร้างเมืองของทวาราวดีและขอมโบราณที่รับมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง หลังจากการเกิดขึ้นของอาณาจักรล้านนา เมื่อพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองถึงยุคทองของล้านนา ได้มีการเสริมคติทางศาสนาพุทธด้านการเสริมศิริมงคลให้แก่เมือง โดยกำหนดทักษาเมืองขึ้นในเมืองสำคัญของล้านนา ภายหลังเมื่อล้านนาเสื่อมลง ลัทธิความเชื่อผี รวมทั้งคติการสร้างเมืองและรักษาเมืองได้เสื่อมลงตาม ปัจจุบันมีการปฏิบัติหลายสิ่งที่ขัดต่อจารีตประเพณีดั้งเดิมเป็นอันมาก เป็นที่กล่าวขวัญกันของชาวล้านนาผู้อาวุโสที่เชื่อว่านำมาซึ่งความอัปมงคลหรือที่เรียกว่า "ขึดบ้านขึดเมือง" เช่น การเผาผีในเมือง เป็นต้น