ดินขอ (ดินฯขอฯฯ)
ดินขอ หมายถึงกระเบื้องดินเผาชนิดหนึ่ง ที่ชาวล้านนาและชาวไตเผ่าต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงได้ประดิษฐ์ขึ้นใช้เพื่อเป็นวัสดุมุงหลังคาเรือนมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่าภูมิปัญญาทางเทคนิควิทยาประเภทนี้มีพัฒนาการมานานเกินกว่า ๑,๔๐๐ ปี อย่างน้อยในสมัยหริภุญไชยที่สามารถตรวจสอบพบหลักฐานทางโบราณคดี และน่าจะเก่าแก่ไปถึงสมัยหิรัญนครเงินยาง ก่อนมีอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ วัสดุหลักที่ใช้ประดิษฐ์ทำจากดินเหนียวจากหนองน้ำหรือทุ่งนา เฉพาะตัวดินเหนียวล้วน ๆ เมื่อนำมานวดแล้วปั้นเป็นอิฐ นำไปตากแดดหรือเผาไฟ เรียกว่า “ดินจี่” (ดินฯจี่) ใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง ส่วนในการทำดินขอ จะนำดินเหนียวมานวดและใส่ส่วนผสมมากกว่าเนื้ออิฐ คือ เพิ่มความเหนียวและคงทนให้มากขึ้น ด้วยการผสมแกลบ และเศษฟางหญ้าเข้าไปในดินเหนียวที่นวดด้วย ดินขอแต่ละชุมชนอาจมีส่วนผสมที่มีสัดส่วนแตกต่างกัน ตามหลักฐานเรือนกาแลโบราณที่มีอายุเกินกว่า ๑๐๐ ปี มีดินขอที่ยังใช้งานได้ดี ที่มีอายุใช้งานยืนนานเพราะได้ใส่ส่วนผสมพิเศษมากขึ้นเพิ่มเติม ได้แก่ กาวหนังและน้ำอ้อย มีคุณสมบัติทั้งเป็นตัวประสานและเพิ่มความคงทนที่เยี่ยม อีกทั้งสามารถทำให้แผ่นดินขอมีความบางเบาได้มาก ช่วยลดน้ำหนักโครงสร้างหลังคาอาคารได้ แต่เดิมนิยมผลิตดินขอ โดยปั้นและทำเตาเผาในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างอาคาร เพื่อลดภาระและความเสียหายระหว่างการขนย้าย พบการใช้ดินขอมุงหลังคาในบ้านชาวไต ที่ตั้งถิ่นฐานทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ไตยวน ไตลื้อ ไตขึน ไตใหญ่ นอกจากนั้นยังมีการถ่ายทอดไปสู่ชาติพันธุ์บางเผ่า เช่น ชาวลัวะ ชาวขมุ เป็นต้น
ที่มา: เชาวลิต สัยเจริญ, ต้นฉบับร่างเพื่อส่งให้ ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำลงตีพิมพ์ในวารสาร มติชน รายสัปดาห์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น