วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ฝาไหล (ฝาไหลฯ)

ฝาไหล (ฝาไหลฯ)

ฝาหมายถึงระนาบแนวตั้งที่ปิดล้อมที่ว่างของห้องหรืออาคาร ไหลคือลักษณะที่เลื่อนไป ในเขตวัฒนธรรมล้านนาเรียกฝาผนังอาคารที่เลื่อนไปมาได้ว่าฝาไหล เป็นลักษณะที่ตรงกับการใช้คำในปัจจุบันที่ว่า บานเลื่อน ซึ่งบานเลื่อนในปัจจุบันมีใช้กับประตูและหน้าต่าง ส่วนฝาไหลตามที่มการใช้ใช้กับรูปแบบช่องหน้าต่างเป็นหลัก ยังพบว่ามีการใช้ฝาไหลในระนาบฝาระดับเหนือพื้นเรือนเล็กน้อย หรือระดับใต้หน้าต่าง โครงสร้างของฝาไหลประกอบไปด้วยระนาบฝาสองชั้น แต่ละชั้นมีการเจาะช่องเปิด การเลื่อนฝาสามารถควบคุมการเปิดปิดของช่องเปิดได้ คือ หากช่องของฝามาตรงกันก็จะเป็นการเปิด หากช่องของระนาบด้านในไม่ตรงกับช่องของระนาบผนังด้านนอกก็จะเป็นการปิด ชาวล้านนานิยมทำฝาไหลในส่วนที่ต้องการการระบายอากาศและต้องการปิดในบางครั้งเพื่อกันลมหนาวหรือพื่อความเป็นส่วนตัว ที่นิยมได้แก่ฝาไหลที่ผนังห้องครัว ฝาไหลในห้องนอน ฝาไหลที่ราวกันตกในส่วนชานและเติ๋น (ชานยกระดับใต้ชายคาหน้าห้องนอน) ปัจจุบันไม่นิยมทำฝาไหลในบ้านสมัยใหม่ เนื่องจากต้องใช้ไม้ที่มีราคาแพง และเป็นการปิดกั้นมุมมอง วัสดุกระจกจึงเป็นวัสดุใหม่ที่มาทดแทนประกอบกับเทคนิคการใช้เทคโนโลยีการติดตั้งบานหน้าต่างมีการพัฒนาไปดีขึ้น

ที่มา: เชาวลิต สัยเจริญ, ต้นฉบับร่างเพื่อส่งให้ ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำลงตีพิมพ์ในวารสาร มติชน รายสัปดาห์

กาแล (กาแล)

กาแล (กาแล)
อ่านว่า “ก๋าแล” หมายถึง ส่วนประกอบส่วนปลายยอดป้านลมที่หน้าจั่วหลังคาของเรือนพื้นบ้านล้านนา ที่มีพัฒนาการมานานหลายร้อยปีจนมีรูปแบบทางประเพณีที่ลงตัว เรือนกาแลโบราณเป็นเรือนหลังคาเดี่ยวยกพื้นเรือนสูง พัฒนามาจากเรือนเครื่องผูกโครงสร้างไม้ไผ่ที่เรียกว่า ตูบ  (ตูบ) จากหลักฐานอายุเรือนกาแลที่เก่าที่สุดมีอายุประมาณร้อยกว่าปี พบว่านิยมสร้างเป็นเรือนหลังคาจั่วแฝด โดยมีส่วนยอดหลังคาที่จั่วเป็นปลายป้านลมที่แกะสลักเป็นกาแลอย่างสวยงาม ตามหลักฐานพบว่าเรือนกาแลส่วนใหญ่ปลูกสร้างในชุมชนเมืองเชียงใหม่ในอดีต และกระจายตัวไปตามชุมชนสำคัญโดยรอบเชียงใหม่ เช่น สันทราย แม่ริม หางดง สันป่าตอง แม่แจ่ม เป็นต้น เรือนกาแลถือได้ว่าเป็นเรือนของผู้มีฐานะดี ในอดีต เจ้าของเรือนมักเป็นเกษตรกรผู้ทำนาทำไร่ที่สร้างผลผลิตการเกษตรออกสู่ตลาดได้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ข้าว หอม กระเทียม และลำใย ในสมัยโบราณก่อนสังคมยุคเศรษฐกิจคือก่อนสมัยรัตนโกสินทร์นั้น เจ้าของเรือนกาแลเป็นของกลุ่มชนชั้นหัวหน้าชุมชน หรือคหบดี ซึ่งสอดคล้องกับประเพณีการสร้างเรือนกาแลชาวลัวะที่อาศัยบนไหล่เขาสูงทางใต้และทางทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ โดยจะสร้างเรือนกาแลที่สวยงามแข็งแรงสำหรับหัวหน้าชนเผ่าที่เรียกว่า “สะมาง”




นักวิชาการไทยสันนิษฐานในหลายประเด็น ประเด็นแรกเชื่อว่า กาแล ถูกทำขึ้นตามอิทธิพลความเชื่อในลัทธิบูชาหลุมศพบรรพบุรุษของชาวลัวะหรือละว้าโบราณ โดยปักเครื่องรางกิ่งไผ่สัญลักษณ์กากบาทไว้บนหลุมศพ ภายหลังมีการนำมาแขวนบูชาและกันสิ่งชั่วร้ายบนยอดหลังคา และภายหลังพัฒนาตกแต่งเป็นกาแล ประเด็นที่สองเชื่อว่าเป็นเพราะการทำกาแลไว้บนหลังคาให้มีลักษณะคล้ายเหยี่ยวกระพือปีก เพื่อป้องกันอีกามาเกาะหลังคา ซึ่งชาวล้านนาถือว่าจะนำความอัปมงคลมาสู่เรือน ประเด็นที่สามสันนิษฐานโดยนักวิชาการต่างถิ่น ที่กล่าวว่าอาจเป็นเพราะชาวเชียงใหม่ถูกชาวพม่าบังคับให้ทำกาแลไว้บนหลังคาเพื่อข่มและสร้างความอัปมงคลให้คนเชียงใหม่ ประเด็นสุดท้ายนักวิชาการทางด้านสถาปัตยกรรมและล้านนาคดีสมัยใหม่ สันนิษฐานว่า กาแลน่าจะพัฒนามาจากความจำเป็นในประโยชน์ใช้สอยของป้านลม ที่โครงสร้างต้องไขว้ขัดกันเพื่อยึดป้านลมกับแปหลังคาให้แข็งแรงกันแรงลมกระพือแผ่นมุงหลังคาให้ปลิว ส่วนปลายของป้านลมที่ขัดกันนั้น มีพัฒนาการมาจากป้านลมของเรือนเครื่องผูกที่เป็นลำไม้ไผ่ขัดกันบนยอดหลังคาเช่นกัน ส่วนป้านลมเรือนกาแลที่เป็นไม้สักโดยส่วนใหญ่ มีขนาดแผ่นกว้าง การแกะสลักปลายป้านลมจะช่วยลดความเทอะทะและเพิ่มความงดงามให้แก่เรือน ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์อันน่าภูมิใจของเจ้าของเรือนที่ได้โชว์ฝีมือการแกะสลักไม้ และนับว่าเป็นเครื่องหมายประจำตระกูลได้ด้วย นอกจากนั้นสัญลักษณ์สำคัญที่ไม่ด้อยไปกว่ากาแลคือ “หำยนต์” คือ ทับหลังประตูห้องนอน ซึ่งจะกล่าวในโอกาสต่อไป



ที่มา: เชาวลิต สัยเจริญ, ต้นฉบับร่างเพื่อส่งให้ ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำลงตีพิมพ์ในวารสาร มติชน รายสัปดาห์

ซุ้มโขง (ซุ้มฯโขงฯ)

ซุ้มโขง (ซุ้มฯโขงฯ)

ซุ้มโขง หมายถึง ซุ้มประตูทางเข้าบริเวณพื้นที่ศาสนสถานหรืออาคารพิเศษในวัฒนธรรมล้านนา สร้างขึ้นด้วยศิลา อิฐ ปูน หรือไม้ มีความเป็นมาเชื่อมโยงกับคติความเชื่อและขนบธรรมเนียมที่มีมาแต่โบราณก่อนสมัยล้านนา สันนิษฐานตามหลักฐานทางโบราณคดีและศิลปกรรมที่พบว่ามีการสร้างซุ้มทางเข้าตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจในพื้นที่ประเทศไทยในอดีต สัมพันธ์กับระบบความเชื่อและธรรมเนียมประเพณีในศาสนา พราหมณ์-ฮินดู ที่ได้รับมาจากอินเดียอีกทอด เพื่อวัตถุประสงค์ในการเสริมความเป็นมงคลและให้ความสำคัญแก่บุคคลสำคัญในการต้อนรับ หรือสร้างเป็นทางลอดไปสู้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หรือพื้นที่ๆ พิเศษ โดยซุ้มประตูจะได้รับการสร้างและตกแต่งงดงามเป็นพิเศษ ซุ้มประตูแบบชั่วคราวตกแต่งด้วยต้นไม้ ใบไม้ และดอกไม้ เช่น ซุ้มประตูป่า (ซุ้มฯระฯปตูป่า) ในงานตกแต่งประตูในงานประเพณียี่เป็งของล้านนา ซุ้มประตูแบบถาวรนิยมสร้างไว้ในศาสนสถาน สร้างด้วยวัสดุก่อสร้างที่แข็งแรงและมีเรือนยอด คือ ซุ้มโขง หรือ ประตูโขง สร้างไว้เป็นประตูทางเข้าวัด โบสถ และ วิหาร ซุ้มโขงอีกประเภทสร้างไว้เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป เรียกว่า โขงพระเจ้า (โขงฯระฯพจู้) ซึ่งถูกกำหนดไว้ในตำแหน่งประธานของห้องวิหารหรือโบสถ โดยปกติซุ้มโขงมีประตูไม้ที่มีกลอน ตัวซุ้มนิยมก่อด้วยหินหรืออิฐสอปูน มีการออกแบบให้มีส่วนฐาน ส่วนองค์ซุ้ม และส่วนยอด การย่อมุมตัวซุ้มทำให้สวยงามดูไม่เทอะทะ การทำยอดซุ้มช่วยให้ดูสวยสง่างามเป็นพิเศษ การประดับตกแต่งโดยเฉพาะรูปแบบในสมัยที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุดในล้านนา ในสมัยพระเจ้าติโลกราชจนถึงสมัยพระเมืองแก้ว  ซุ้มโขงจะได้รับการตกแต่งด้วยปูนปั้น เซรามิก กระจก และเทคนิคการลงรักปิดทอง ด้วยลวดลายทมี่วิจิตรงดงาม ลวดลายต่างๆ และประติมากรรมตกแต่ง สะท้อนสัญลักษณ์ความเชื่อคติจักรวาล และการมีอยู่ของสวรรค์แดนทิพย์และป่าหิมพานต์ ตัวอย่างเช่น ประติมากรรมรูป เทวดา กินรี หงส์ พญานาค และดอกไม้สวรรค์ เป็นต้น

ที่มา: เชาวลิต สัยเจริญ, ต้นฉบับร่างเพื่อส่งให้ ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำลงตีพิมพ์ในวารสาร มติชน รายสัปดาห์

ดินขอ (ดินฯขอฯฯ)

ดินขอ (ดินฯขอฯฯ)
ดินขอ หมายถึงกระเบื้องดินเผาชนิดหนึ่ง ที่ชาวล้านนาและชาวไตเผ่าต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงได้ประดิษฐ์ขึ้นใช้เพื่อเป็นวัสดุมุงหลังคาเรือนมาแต่โบราณ สันนิษฐานว่าภูมิปัญญาทางเทคนิควิทยาประเภทนี้มีพัฒนาการมานานเกินกว่า ๑,๔๐๐ ปี อย่างน้อยในสมัยหริภุญไชยที่สามารถตรวจสอบพบหลักฐานทางโบราณคดี และน่าจะเก่าแก่ไปถึงสมัยหิรัญนครเงินยาง ก่อนมีอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ วัสดุหลักที่ใช้ประดิษฐ์ทำจากดินเหนียวจากหนองน้ำหรือทุ่งนา เฉพาะตัวดินเหนียวล้วน ๆ เมื่อนำมานวดแล้วปั้นเป็นอิฐ นำไปตากแดดหรือเผาไฟ เรียกว่า ดินจี่ (ดินฯจี่) ใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง ส่วนในการทำดินขอ จะนำดินเหนียวมานวดและใส่ส่วนผสมมากกว่าเนื้ออิฐ คือ เพิ่มความเหนียวและคงทนให้มากขึ้น ด้วยการผสมแกลบ และเศษฟางหญ้าเข้าไปในดินเหนียวที่นวดด้วย ดินขอแต่ละชุมชนอาจมีส่วนผสมที่มีสัดส่วนแตกต่างกัน ตามหลักฐานเรือนกาแลโบราณที่มีอายุเกินกว่า ๑๐๐ ปี มีดินขอที่ยังใช้งานได้ดี ที่มีอายุใช้งานยืนนานเพราะได้ใส่ส่วนผสมพิเศษมากขึ้นเพิ่มเติม ได้แก่ กาวหนังและน้ำอ้อย มีคุณสมบัติทั้งเป็นตัวประสานและเพิ่มความคงทนที่เยี่ยม อีกทั้งสามารถทำให้แผ่นดินขอมีความบางเบาได้มาก ช่วยลดน้ำหนักโครงสร้างหลังคาอาคารได้ แต่เดิมนิยมผลิตดินขอ โดยปั้นและทำเตาเผาในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างอาคาร เพื่อลดภาระและความเสียหายระหว่างการขนย้าย พบการใช้ดินขอมุงหลังคาในบ้านชาวไต ที่ตั้งถิ่นฐานทั้งในและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ไตยวน ไตลื้อ ไตขึน ไตใหญ่ นอกจากนั้นยังมีการถ่ายทอดไปสู่ชาติพันธุ์บางเผ่า เช่น ชาวลัวะ ชาวขมุ เป็นต้น

ที่มา: เชาวลิต สัยเจริญ, ต้นฉบับร่างเพื่อส่งให้ ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำลงตีพิมพ์ในวารสาร มติชน รายสัปดาห์