"สกราชได้ 859 ปีวายสี พระเจ้าตนนีแสนนืงไว้วัดต้นมกเหนือ"
(จ.ศ.858 พ.ศ.2039 สมัยพระเจ้ายอดเชียงรายครองเมืองเชียงใหม่)
พระพุทธรูปองค์นี้ถ้าไม่มีผู้นำมาจากที่อื่น แต่สร้างขึ้นในวัดนี้ หมายความว่าวัดดวงดีต้องสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2039 วัดดวงดีมีชื่อเรียกอีกอย่างคือ วัดต้นมกเหนือ หรือวัดต้นหมากเหนือ สร้างขึ้นภายหลังที่พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว และคงมีเจ้านายเมืองเชียงใหม่คนหนึ่งเป็นผู้สร้าง ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงวัดดวงดี เมื่อ พ.ศ.2304 พระภิกษุวัดนี้ ได้รับนิมนต์ให้ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่เชียงใหม่เป็นอิสระ ก่อนที่พม่าจะกลับเข้ามาปกครองอีกครั้งหนึ่ง (พ.ศ. 2306 - 2317) ลุจุลศักราช 1136 ในปีพ.ศ. 2317 พระเจ้ากาวิละ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรี สามารถยึดเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่าได้ เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 15 ค่ำ เดือนห้าเหนือ เมืองเชียงใหม่จึงเจริญรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบัน วัดนี้เคยใช้เป็นสำนักเรียนสำหรับลูกเจ้าขุนมูลนายในสมัยก่อน และยังเคยถูกใช้เป็นสถานที่เรียนของนักเรียนยุพราชวิทยาลัยก่อนที่จะมีการก่อสร้างแล้วเสร็จอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2362 สมัยพระญาธรรมลังกา เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 2 ได้มีการบูรณะและฉลองสมโภช ภายในวัดมีวิหารและหอธรรม ประดับด้วยไม้แกะสลักปิดทองที่สวยงาม
ปูชนียสถานที่สำคัญของวัดซึ่งเป็นมรดกล้ำค่า โดยกรมศิลปกรได้ประกาศขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถานแห่งชาติ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 76 ตอนที่108 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 รวม 4 รายการ คือ
๑. วิหาร จากหนังสือประวัติวัดดวงดี พิมพ์เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๕ กล่าวว่าแม่เจ้าจันทน์หอมเป็นผู้คิดสร้าง แต่ไม่ทราบปีที่สร้าง แต่พระเทพวรสิทธาจารย์ อดีตเจ้าคณะเชียงใหม่ รูปที่ 8 เมื่อครั้งดำรงสมศักดิ์เป็น เจ้าคุณอุดมวุฒิคุณ รองเจ้าคณะเชียงใหม่ บอกว่าเจ้าอินทรวโรรสสุริยวงศ์ (น้อยสุริยะ) เป็นผู้สร้าง แต่ไม่ปรากฏปีสร้างแน่ชัด ในปี พ.ศ. 2549 กรมศิลปกร ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ตามรูปแบบเดิม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชย์ครบ 60 ปี และทรงพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในปี พ.ศ. 2550 ลักษณะวิหารเป็นวิหารแบบล้านนา ที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมต้นรัตนโกสินทร์ คุณค่าของวิหารแห่งนี้อยู่ที่ลวดลายแกะสลักไม้ประดับสถาปัตยกรรม เช่น ค้ำยันหูช้างแกะเป็นลวดลายสวยงาม รวมทั้งลวดลายแกะสลักเหนือกรอบประตูทางสถาปัตยกรรม
๒. อุโบสถ ไม่ปรากฏปีที่สร้างและผู้ที่สร้าง ลักษณะเป็นแบบพื้นเมืองล้านนาที่มีแบบอย่างทางสถาปัตยกรรมและลวดลายประดับตกแต่งที่งดงาม รูปทรงโบสถ์มีขนาดเล็กหลังคาซ้อนชั้นแบบล้านนา๒ ชั้น หน้าบันและลวดลายตกแต่งแกะสลักปิดทองประดับกระจก ค้ำยันหูช้างแกะสลักไม้เป็นลวดลาย มีใบเสมาปักโดยรอบ
๓. พระเจดีย์ หนังสือประวัติวัดดวงดีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ กล่าวว่าพระมหาเกสระอดีตเจ้าอาวาสเป็นผู้คิดสร้างไม่ปรากฏปีที่สร้าง ลักษณะสำคัญของพระเจดีย์องค์นี้คือ ฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จมีช้างที่มุมทั้ง ๔ แต่เข้าใจว่ามาเพิ่มเติมทีหลังเพราะลักษณะไม่สัมพันธ์กับองค์เจดีย์ ถัดฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จขึ้นไปเป็นชีพมาลัยเถา ๘ เหลี่ยม องค์ระฆังกลม บัลลังก์ ปล้องไฉน และปลียอด
๔. หอไตร ทำเป็นทรงแบบมณฑป มีหลังคาย่อ ซ้อนกัน 3 ชั้น หน้าต่างทำเป็นซุ้มอยู่โดยรอบ จากสมุดข่อย “ปั๊บหลั่น” ที่บันทึกด้วยอักษรไทยยวนกล่าวว่าเจ้ามหาอุปราชมหาวงศ์ เป็นผู้สร้างเมื่อ จ.ศ. ๑๑๙๑ (พ.ศ. 2372) สร้างเดือน 7เหนือ แรม 11ค่ำ หลังจากสร้างหอไตรถวายวัดดวงดีเสร็จ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ องค์ที่ 5 ของเชื้อเจ้า 7 องค์ ลักษณะทรวดทรงเป็นหอไตรทรงมณฑปที่เป็นแบบพื้นเมืองล้านนา ตัวหอไตรทรงสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน ส่วนหลังคาหรือยอดเป็นทรงมณฑปหลังคาซ้อนลดหลั่นกัน ๓ ชั้นประดับด้วยลวดลายตรงบริเวณสันหลังคา
นอกจากนั้นอาคารกุฏิครึ่งปูนครึงไม้ เป็นอาคารเก่าที่มีคุณค่าอีกอาคาร สร้างใน ปี พ.ศ. 2473 โดยพระอธิการอินตา
วัดดวงดีมีพระพุทธรูปซึ่งถือว่าเก่าแก่อยู่คู่กับวัด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยเจ้านายเมืองเชียงใหม่คนใดคนหนึ่ง แต่ไม่ทราบนามโดยชัดเจน ประมาณในปี พ.ศ. 2039 โดยความที่พระพุทธรูปองค์นี้อยู่คู่กับวัดดวงดีมาเป็นเวลาช้านาน จึงเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป โดยมักเข้ามากราบนมัสการขอพร ตามคติความเชื่อที่ว่าจะให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างปกติสุข จึงได้ชื่อว่าพระพุทธรูปดวงดี ตามนามของวัด
อ้างอิง:
- หนังสือประวัติวัดดวงดี, 2515
- ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และ ศูนย์วัฒนธรรม สถาบันราชภัฏจังหวัดเชียงใหม่. 2535. วัดสำคัญของนครเชียงใหม่. เล่ม 1. เชียงใหม่ : ส ทรัพย์การพิมพ์.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น