วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ซุ้มโขง (ซุ้มฯโขงฯ)

ซุ้มโขง (ซุ้มฯโขงฯ)

ซุ้มโขง หมายถึง ซุ้มประตูทางเข้าบริเวณพื้นที่ศาสนสถานหรืออาคารพิเศษในวัฒนธรรมล้านนา สร้างขึ้นด้วยศิลา อิฐ ปูน หรือไม้ มีความเป็นมาเชื่อมโยงกับคติความเชื่อและขนบธรรมเนียมที่มีมาแต่โบราณก่อนสมัยล้านนา สันนิษฐานตามหลักฐานทางโบราณคดีและศิลปกรรมที่พบว่ามีการสร้างซุ้มทางเข้าตั้งแต่สมัยขอมเรืองอำนาจในพื้นที่ประเทศไทยในอดีต สัมพันธ์กับระบบความเชื่อและธรรมเนียมประเพณีในศาสนา พราหมณ์-ฮินดู ที่ได้รับมาจากอินเดียอีกทอด เพื่อวัตถุประสงค์ในการเสริมความเป็นมงคลและให้ความสำคัญแก่บุคคลสำคัญในการต้อนรับ หรือสร้างเป็นทางลอดไปสู้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์หรือพื้นที่ๆ พิเศษ โดยซุ้มประตูจะได้รับการสร้างและตกแต่งงดงามเป็นพิเศษ ซุ้มประตูแบบชั่วคราวตกแต่งด้วยต้นไม้ ใบไม้ และดอกไม้ เช่น ซุ้มประตูป่า (ซุ้มฯระฯปตูป่า) ในงานตกแต่งประตูในงานประเพณียี่เป็งของล้านนา ซุ้มประตูแบบถาวรนิยมสร้างไว้ในศาสนสถาน สร้างด้วยวัสดุก่อสร้างที่แข็งแรงและมีเรือนยอด คือ ซุ้มโขง หรือ ประตูโขง สร้างไว้เป็นประตูทางเข้าวัด โบสถ และ วิหาร ซุ้มโขงอีกประเภทสร้างไว้เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูป เรียกว่า โขงพระเจ้า (โขงฯระฯพจู้) ซึ่งถูกกำหนดไว้ในตำแหน่งประธานของห้องวิหารหรือโบสถ โดยปกติซุ้มโขงมีประตูไม้ที่มีกลอน ตัวซุ้มนิยมก่อด้วยหินหรืออิฐสอปูน มีการออกแบบให้มีส่วนฐาน ส่วนองค์ซุ้ม และส่วนยอด การย่อมุมตัวซุ้มทำให้สวยงามดูไม่เทอะทะ การทำยอดซุ้มช่วยให้ดูสวยสง่างามเป็นพิเศษ การประดับตกแต่งโดยเฉพาะรูปแบบในสมัยที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองสูงสุดในล้านนา ในสมัยพระเจ้าติโลกราชจนถึงสมัยพระเมืองแก้ว  ซุ้มโขงจะได้รับการตกแต่งด้วยปูนปั้น เซรามิก กระจก และเทคนิคการลงรักปิดทอง ด้วยลวดลายทมี่วิจิตรงดงาม ลวดลายต่างๆ และประติมากรรมตกแต่ง สะท้อนสัญลักษณ์ความเชื่อคติจักรวาล และการมีอยู่ของสวรรค์แดนทิพย์และป่าหิมพานต์ ตัวอย่างเช่น ประติมากรรมรูป เทวดา กินรี หงส์ พญานาค และดอกไม้สวรรค์ เป็นต้น

ที่มา: เชาวลิต สัยเจริญ, ต้นฉบับร่างเพื่อส่งให้ ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำลงตีพิมพ์ในวารสาร มติชน รายสัปดาห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น