วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

หำยนต์

หำยนต์ (อ่านว่า หำ - ยน )


หำยนต์คือแผ่นไม้แกะสลักที่อยู่ในกรอบเหนือประตูห้องนอนในเรือนกาแลของชาวล้านนา มีรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีลวดลายที่สวยงาม เช่น ลายดอกไม้ ลายเครือเถา ก้านขด ลายเมฆ ลายน้ำ ลายประแจจีน หรือลายเรขาคณิตอย่างง่าย ชาวล้านนาเชื่อว่าหำยนต์มีพลังลึกลับที่สามารถดลบันดาลความเป็นไปแก่เจ้าของบ้าน มีการทำหำยนต์ขึ้นในเวลาสร้างเรือนใหม่ โดยนำแผ่นไม้มาผูกไว้กับเสามงคล (เสาเอก) เพื่อทำพิธีสูตรถอน และอัญเชิญอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสถิตที่หำยนต์ จากนั้นแกะสลักแล้วทำการติดตั้งโดยมีพิธียกขันตั้งหลวง ประกอบด้วย ดอกไม้ ธูปเทียน หมากพลู ผ้าขาว ผ้าแดงและสุราอาหาร มีปราชญ์ประจำหมู่บ้านทำหน้าที่กล่าวอัญเชิญเทวดา อารักษ์ ผีบ้านผีเรือนมาปกป้องรักษาบ้านหลังนั้นให้อยู่อาศัยอย่างร่มเย็นเป็นสุขอุดมสมบูรณ์

การกำหนดขนาดของหำยนต์ ใช้วิธีวัดขนาดจากความยาวของเท้าเจ้าของบ้าน ถ้าเป็นประตูขนาดเล็กจะใช้ขนาดสามเท่าของเท้า ประตูขนาดใหญ่จะวัดให้ได้ขนาดสี่เท่าของเท้าเจ้าของบ้าน โดยถือว่าการทำหำยนต์เป็นการข่มผู้ที่จะเดินลอดผ่านข้างใต้ด้วย เชื่อกันว่าหำยนต์เป็นสิ่งที่สามารถคุ้มครองป้องกันสิ่งไม่ดีที่จะเข้ามากล้ำกลายเจ้าของเรือนและครอบครัวได้ ในด้านการใช้งาน หำยนต์อยู่เหนือข่มประตูห้องนอน แบ่งพื้นที่ห้องนอนกับพื้นที่เติ๋น (ชานร่มรับแขกบนเรือน) เป็นการแบ่งพื้นที่ที่เป็นส่วนตัวของครอบครัวซึ่งนับถือผีตระกูลเดียวกันออกจากผู้มาเยือน และเป็นสัญลักษณ์แสดงความเป็นตัวตนของเจ้าของเรือนที่ผู้อื่นไม่ควรกล้ำกลายเข้าไปโดยพละการ การถลำก้าวล้ำเข้าไปถือเป็นการผิดผี จะต้องทำพิธีขอสูมาลาโทษ ทัศนะของนักวิชาการและปราชญ์ท้องถิ่นเกี่ยวกับหำยนต์มีมากหลาย เช่น เป็นยันตร์ที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันภัยอันตราย บ้างว่าอาจมีที่มาจากรูปแบบทับหลังซุ้มประตูในสถาปัตยกรรมเขมรที่ได้รับอิทธิพลมาจากชวาอีกต่อหนึ่ง แล้วแพร่หลายเข้าสู่ดินแดนล้านนาภายหลัง

อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ อธิบาย คำว่า "หำ" ว่าเป็นภาษาล้านนาหมายถึง "อัณฑะ" อันเป็นสิ่งที่รวมพลังของเพศชาย ส่วนคำว่า "ยน" คงมาจาก "ยนตร์" แปลว่าสิ่งป้องกันรักษาที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นหำยนต์จึงเป็นส่วนตกแต่งเรือนและทำหน้าที่เป็นยันต์อันศักดิ์สิทธิ์ที่จะป้องกันอันตรายจากภายนอก อาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ สันนิษฐานว่า เมื่อครั้งที่สมัยพม่าเข้าปกครองล้านนา ได้บังคับให้คนเมืองอยู่อาศัยในบ้านที่มีรูปร่างคล้ายโลงศพของพม่า และหำยนต์เปรียบเป็นอัณฑะของพม่า เมื่อเจ้าของบ้านชาวล้านนาและคนในครอบครัวเดินเข้าออกห้องและลอดใต้อัณฑะนั้นก็จะถูกข่มและทำลายจิตใจไม่ให้คิดกระด้างกระเดื่องต่อพม่า ส่วนอาจารย์เฉลียว ปิยะชน อธิบายว่าเมื่อชาวล้านนาจะขายบ้านหรือซื้อบ้านต่อจากเจ้าของบ้านคนเก่า จะทำพิธีด้วยการตีหำยนต์แรงๆ หรืออาจทำลาย เพื่อขจัดความขลัง ถือเป็นการทำให้หมดความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นความเห็นที่ตรงกันกับอาจารย์ ไกรศรี นิมมานเหมินทร์ ส่วนอาจารย์มณี พยอมยงค์ เห็นว่า หำยนต์ อาจมาจากคำว่า ยันตะ แปลว่า ยันต์ของพระอรหันต์ โดยในลวดลาย ที่แกะสลักบนแผ่นหำยนต์นั้น น่าจะมีคาถาติดอยู่ อาจารย์อุดม รุ่งเรืองศรี สันนิษฐานว่า หำยนต์ น่าจะเรียกว่า หัมยนต์ มากกว่า มาจากคำว่า หัมมิยะอันตะ คำว่า "หัมมิยะ" แปลว่า ปราสาทโล้น หมายถึงเพิงบังแดดชั่วคราว คำว่า "อันตะ" แปลว่า ยอด รวมแล้วแปลความว่า ปราสาทที่ไม่มียอด และท่านเห็นว่าเป็นการทำเพื่อตกแต่งเรือนไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องคาถาอาคม ที่มาของชื่อและความหมายนั้นนับว่ามีข้อคิดเห็นที่หลากหลายนัก

มีข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งว่าชาวลัวะ (ละว้า) พื้นเมืองเดิมในล้านนา มีหำยนต์เหนือประตูทางเข้าห้องนอนในเรือนกาแลของตนเองเช่นกัน ปัจจุบันมีหลักฐานเรือนลัวะที่หลงเหลือแถบอำเภอแม่แจ่มและอำเภอแม่ลาน้อย ซึ่งกำลังจะหมดไปในไม่ช้า ซึ่งชาวลัวะเหล่านั้นตั้งถิ่นฐานโดดเดี่ยวมานานเกินกว่า ๕๐๐ ปีมาแล้วโดยไม่ได้ผสมผสานไปกับชาติพันธุ์อื่นใด ขณะที่เรือนกาแลของคนเมืองที่พบในเมืองเชียงใหม่และพื้นที่ชนบทโดยรอบนอกเมือง อยู่ภายใต้พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ชุมชนที่มีการผสมผสานชาติพันธุ์ของชาวลัวะและชาวไตโยนตามหลักฐานบันทึกของชาวล้านนาโบราณในตำนานและพงศาวดารต่างๆ เมื่อประมาณ ๘ ปีที่แล้ว ผู้เขียนมีโอกาสไปสำรวจเมืองเชียงตุงและหมู่บ้านในชนบทห่างไกลทางทิศตะวันออก ผู้เขียนตื่นตาตื่นใจมากเมื่อพบเรือนกาแลโบราณหลังหนึ่ง แต่รูปแบบเรือนที่ถูกต่อเติมขยายหลายครั้งทำให้ผังเรือนมีความแตกต่างออกไปแต่ก็ยังมีเค้าโครงรูปทรงเรือนกาแลและมีกาแลแกะสลักที่ยอดเรือนดูสวยงาม รวมทั้งมีหำยนต์ สอบถามเจ้าของเรือนผู้มีอายุ ๗๐ กว่าปีซึ่งน่าจะมีเชื้อสายผสมผสานระหว่างชาวไตเขินและชาวลัวะ ได้ความว่า อายุเรือนมีมากกว่า ๘๐ ปี สร้างในสมัยพ่อ และสมัยที่ตนเป็นเด็ก มีเรือนกาแลให้เห็นมากมายหลายหมู่บ้านในแถบพื้นที่นั้น ผู้เป็นเจ้าของเรือนจะเป็นหัวหน้าหมู่บ้านเท่านั้น ซึ่งตรงกับเจ้าของเรือนกาแลของชาวลัวะในไทย ที่ต้องเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ที่เรียกว่า “ขุนสมาง” และเมื่อเปรียบเทียบกับเรือนชาวลัวะในเมืองลา ใกล้ชายแดนตะวันออกของเมืองเชียงตุงที่ผู้เขียนมีโอกาสไปสำรวจเมื่อปีที่แล้ว พบว่าเรือนชาวลัวะที่นั่นเหมือนกับเรือนชาวลัวะที่แม่ลาน้อยและแม่แจ่ม ต่างกันตรงที่เรือนลัวะที่เมืองลาหลายหลังมีขนาดใหญ่กว่ามาก และไม่ค่อยเห็นการตกแต่งกาแลที่แกะสลักบนยอดจั่ว ส่วนหำยนต์พบว่ามีใช้เหมือนกันแต่ฝีมือการแกะสลักไม่งามเท่า

อย่างไรก็ดีเมื่อตรวจสอบกับข้อเท็จจริงในหลักฐานการดำรงชีวิตของชาวล้านนารวมทั้งชาวลัวะ ชนเผ่าที่มีเรือนกาแลคล้ายกัน สรุปได้ว่า ชาวล้านนาแถบเชียงใหม่และชาวลัวะทางทิศใต้และตะวันตกของเชียงใหม่รวมทั้งในเขตพม่า ทำหำยนต์ขึ้นเป็นส่วนประกอบตกแต่งที่โดดเด่นพิเศษ แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของเจ้าของเรือนและตระกูล โดยใช้กำหนดเขตทางเข้าพื้นที่หวงห้ามส่วนตัว และเกี่ยวพันกับความเชื่อเรื่องพลังอำนาจเร้นลับที่ปกป้องสิ่งชั่วร้ายและดลบันดาลความเป็นศิริมงคลรุ่งเรืองแก่เจ้าของเรือนและคนในเรือน

ที่มา: เชาวลิต สัยเจริญ, ต้นฉบับร่างเพื่อส่งให้ ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำลงตีพิมพ์ในวารสาร มติชน รายสัปดาห์ (ลงแล้ว)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น