กาแล (กาแล)
อ่านว่า “ก๋าแล” หมายถึง ส่วนประกอบส่วนปลายยอดป้านลมที่หน้าจั่วหลังคาของเรือนพื้นบ้านล้านนา ที่มีพัฒนาการมานานหลายร้อยปีจนมีรูปแบบทางประเพณีที่ลงตัว เรือนกาแลโบราณเป็นเรือนหลังคาเดี่ยวยกพื้นเรือนสูง พัฒนามาจากเรือนเครื่องผูกโครงสร้างไม้ไผ่ที่เรียกว่า “ตูบ” (ตูบ) จากหลักฐานอายุเรือนกาแลที่เก่าที่สุดมีอายุประมาณร้อยกว่าปี พบว่านิยมสร้างเป็นเรือนหลังคาจั่วแฝด โดยมีส่วนยอดหลังคาที่จั่วเป็นปลายป้านลมที่แกะสลักเป็นกาแลอย่างสวยงาม ตามหลักฐานพบว่าเรือนกาแลส่วนใหญ่ปลูกสร้างในชุมชนเมืองเชียงใหม่ในอดีต และกระจายตัวไปตามชุมชนสำคัญโดยรอบเชียงใหม่ เช่น สันทราย แม่ริม หางดง สันป่าตอง แม่แจ่ม เป็นต้น เรือนกาแลถือได้ว่าเป็นเรือนของผู้มีฐานะดี ในอดีต เจ้าของเรือนมักเป็นเกษตรกรผู้ทำนาทำไร่ที่สร้างผลผลิตการเกษตรออกสู่ตลาดได้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ข้าว หอม กระเทียม และลำใย ในสมัยโบราณก่อนสังคมยุคเศรษฐกิจคือก่อนสมัยรัตนโกสินทร์นั้น เจ้าของเรือนกาแลเป็นของกลุ่มชนชั้นหัวหน้าชุมชน หรือคหบดี ซึ่งสอดคล้องกับประเพณีการสร้างเรือนกาแลชาวลัวะที่อาศัยบนไหล่เขาสูงทางใต้และทางทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่ โดยจะสร้างเรือนกาแลที่สวยงามแข็งแรงสำหรับหัวหน้าชนเผ่าที่เรียกว่า “สะมาง”
นักวิชาการไทยสันนิษฐานในหลายประเด็น ประเด็นแรกเชื่อว่า กาแล ถูกทำขึ้นตามอิทธิพลความเชื่อในลัทธิบูชาหลุมศพบรรพบุรุษของชาวลัวะหรือละว้าโบราณ โดยปักเครื่องรางกิ่งไผ่สัญลักษณ์กากบาทไว้บนหลุมศพ ภายหลังมีการนำมาแขวนบูชาและกันสิ่งชั่วร้ายบนยอดหลังคา และภายหลังพัฒนาตกแต่งเป็นกาแล ประเด็นที่สองเชื่อว่าเป็นเพราะการทำกาแลไว้บนหลังคาให้มีลักษณะคล้ายเหยี่ยวกระพือปีก เพื่อป้องกันอีกามาเกาะหลังคา ซึ่งชาวล้านนาถือว่าจะนำความอัปมงคลมาสู่เรือน ประเด็นที่สามสันนิษฐานโดยนักวิชาการต่างถิ่น ที่กล่าวว่าอาจเป็นเพราะชาวเชียงใหม่ถูกชาวพม่าบังคับให้ทำกาแลไว้บนหลังคาเพื่อข่มและสร้างความอัปมงคลให้คนเชียงใหม่ ประเด็นสุดท้ายนักวิชาการทางด้านสถาปัตยกรรมและล้านนาคดีสมัยใหม่ สันนิษฐานว่า กาแลน่าจะพัฒนามาจากความจำเป็นในประโยชน์ใช้สอยของป้านลม ที่โครงสร้างต้องไขว้ขัดกันเพื่อยึดป้านลมกับแปหลังคาให้แข็งแรงกันแรงลมกระพือแผ่นมุงหลังคาให้ปลิว ส่วนปลายของป้านลมที่ขัดกันนั้น มีพัฒนาการมาจากป้านลมของเรือนเครื่องผูกที่เป็นลำไม้ไผ่ขัดกันบนยอดหลังคาเช่นกัน ส่วนป้านลมเรือนกาแลที่เป็นไม้สักโดยส่วนใหญ่ มีขนาดแผ่นกว้าง การแกะสลักปลายป้านลมจะช่วยลดความเทอะทะและเพิ่มความงดงามให้แก่เรือน ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์อันน่าภูมิใจของเจ้าของเรือนที่ได้โชว์ฝีมือการแกะสลักไม้ และนับว่าเป็นเครื่องหมายประจำตระกูลได้ด้วย นอกจากนั้นสัญลักษณ์สำคัญที่ไม่ด้อยไปกว่ากาแลคือ “หำยนต์” คือ ทับหลังประตูห้องนอน ซึ่งจะกล่าวในโอกาสต่อไป
ที่มา: เชาวลิต สัยเจริญ, ต้นฉบับร่างเพื่อส่งให้ ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำลงตีพิมพ์ในวารสาร มติชน รายสัปดาห์
ขอเรียนถามว่า เคยได้ยินความเชื่อเกี่ยวกับกาแล ที่ว่าเป็นเหมือนหว่างขาของพม่าที่กดคนไทยให้เสื่อมลงสมัยที่ไทยตกเป็นเชลยของพม่าหรือไม่ เป็นความจริงเพียงใด
ตอบลบครับผม
ตอบลบประมาณสามสิบปีที่แล้ว มีนักวิชาการไทยท่านหนึ่งไม่ขอเอ่ยนาม ตั้งข้อสันนิษฐานของตนเองโดยไม่มีหลักฐานยืนยันใดๆ โดยเขียนลงในบทความสั้นๆของตนเอง ในหนังสือเล่มหนึ่ง จากการที่นักวิชาการท่านนั้นมาเห็นเรือนกาแลที่เชียงใหม่ และได้ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองที่ผ่านมา จึงลงความเห็นไปว่าพม่าคงข่มชาวเมืองด้วยการบังคับให้สร้างเรือนที่มีรูปทรงเหมือนโลงศพชาวพม่าและมีสัญลักษณ์เครื่องหมายไขว้ที่แสดงถึงความเสนียดจัญไร บทความชิ้นนั้นมีอิทธิพลต่อผู้อ่านยุคหลังทั้งที่เป็นคนทั่วไปและคนในแวดวงวิชาการ ทำให้เกิดคำพูดว่า "ได้ยินมาว่า" ขึ้นมาโดยขาดการวิเคราะห์และหลักฐานการสนับสนุน จึงเล่าต่อกันไป
ความจริงคือพื้นที่ล้านนาที่อยู่ภายใต้การปกครองของพม่านั้นทำไมจึงไม่พบเรือนกาแลอยู่ทั่วไป และทำไมชาวล้านนาทุกครัวเรือนจึงไม่ได้มีเรือนกาแล
ความจริงคือเรือนกาแลมีมาก่อนพม่าเข้ามามีอำนาจทางการเมืองในล้านนา เรือนกาแลถูกพบเฉพาะในพื้นที่เมืองเชียงใหม่และพื้นที่แอ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง นับได้ว่าเรือนกาแลเป็นเรือนพื้นถิ่นของเชียงใหม่โดยแท้จริง จากการเก็บข้อมูลภาคสนามของผู้เขียนพบข้อเท็จจริงว่าเรือนกาแลของชาวลัวะในแม่แจ่มและแม่ลาน้อย มีรูปแบบการสร้างที่เป็นของตนเองมาไม่ต่ำกว่าสี่ร้อยปี ซึ่งพบว่ามีหำยนต์ในเรือนด้วย ชาวลัวะกลุ่มใหญ่นี้ไม่เคยติดต่อสังคมหรือรับวัฒนธรรมของคนไตยวนมาแต่แต่ยุคต้นล้านนา ชาวบ้านยืนยันว่าเรือนกาแลของพวกเขาสร้างกันมาในลักษณะเดิมตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษไม่ต่ำกว่าสี่ห้าร้อยปีแล้ว
ฉะนั้นแน่นอนว่าเรือนกาแลของชาวลัวะตอนสร้างเมืองเชียงใหม่นั้นควรปรากฏอยู่แล้วในเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์ (เมืองของเศรษฐีลัวะเก้าตระกูล)ในยุคที่พญามังรายเริ่มสร้างเมืองเชียงใหม่
เรือนกาแลล้านนาเป็นผลสำเร็จมาจากการพัฒนาการผสมผสานเรือนพื้นถิ่นของคนไตยวนแบบเชียงแสน (เฮือนสองจ๋องมีจาน)กับเรือนกาแลของพี่น้องลัวะ ที่ใช้เวลาหลายช่วงอายุคนจนลงตัวเป็นเรือนกาแลล้านนาเชียงใหม่ขึ้นอย่างน้อยสามร้อยปีที่ผ่านมา เรือนพักคนทั่วไปจะสร้างด้วยไม้ไผ่และมุงตองตึงหรือหญ้าคา แต่เรือนกาแลเป็นเรือนพิเศษ เป็นของขุนและชนชั้นปกครองของลัวะและล้านนาโบราณ ฉะนั้นจึงไม่ใช่ของเรือนของคนทั่วไปโดยส่วนใหญ่ พบความนิยมของชาวเชียงใหม่สร้างเรือนกาแลกันมากช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๔ (จากการสัมภาษณ์ภาคสนามผู้สูงอายุในเมืองเชียงใหม่ช่วงยี่สิบปีที่แล้ว ย่านหมู่บ้านวังสิงห์คำ ขึ้นไปจนถึงย่านหมู่บ้านสันผีเสื้อ เหนือเมืองเชียงใหม่)ในสมัยรัชกาลที่สี่เศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่เริ่มเปลี่ยนแปลงมีการปลูกข้าวและกระเทียมเพื่อขายกันมากขึ้นแทนการปลูกเพื่อกินตามแบบโบราณ รวมทั้งพื้มีพืชเศรษฐกิจใหม่ภายหลังคือลำใย ทำให้ชาวเมืองเชียงใหม่มีฐานะดีขึ้นกันมาก จึงนิยมสร้างเรือนกาแลตามแบบอย่างของเรือนของขุนนางทั้งหลาย ขณะเดียวกันระดับชนชั้นสูงในเมืองเชียงใหม่เริ่มเสื่อมคลายโดยเฉพาะเมื่ออำจทางการเมืองสยามเข้ามาสู่ดินแดนล้านนามากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ และ ๖ ความเชื่อเรื่องขึดในการปลูกเรือนไม้ชั้นดีอย่างเจ้าอย่างนายเริ่มเสื่อมคลายไป ทั้งยังมีชาวต่างชาติและพ่อค่าชาวพม่าไตใหญ่มาสร้างเรือนชั้นดีขึ้นแข่งกับเจ้าเต็มไปหมด จึงทำให้ค่านิยมในการสร้างเรือนเปลี่ยนไป