วัดปันเส่า ( คำว่า เส่า เป็นภาษาล้านนา หมายถึงเตาสำหรับหลอมโลหะ คำว่า ปัน เป็นการนับจำนวนของชาวล้านนา หมายถึง จำนวน ๑,๐๐๐) ตามประวัติศาสตร์ที่พบจากจารึกต่าง ๆ พบว่า วัดปันเสา เป็นวันที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์มังราย โดยเริ่มก่อสร้างในรัชสมัยของพญาผายูถึงรัชสมัยของพญากือนา โดยได้สร้างองค์เจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งเป็นเจดีย์ขนาดเล็กไม่ใหญ่นัก ต่อมาในสมัยของพญาเมืองแก้ว ทรงมีความดำริที่จะหล่อพระพุทธรูปเจ้าเก้าตื้อ จึงมีบัญชาให้กับนายทหารที่มีฝีมือทางการช่างชื่อปู่ด้ง ได้ไปเสาะหาสถานที่สำหรับหล่อพระพุทธรูป ปู่ด้งจึงเสาะหาตามบัญชา และพบว่าด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ มีชัยภูมิที่มีความเหมาะสมและเป็นมลคงเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากบริเวณนี้มีน้ำไหลผ่านซึ่งเป็นน้ำที่ไหลมาจากน้ำตกห้วยแก้ว ไหลลงสู่คูเมืองเชียงใหม่ (แด่เดิมไหลผ่านกลางวัดปัน ปัจจุบันได้แห้งไปหมดแล้ว) พญาเมืองแก้ว จึงได้ให้นายช่างทอง ทำการก่อเตาเส่า (เตาหลอมโลหะ) ในบริเวณนี้ จำนวน ๑,๐๐๐ เตา แล้วหลอมโลหะหล่อพระพุทธรูปเป็น ๙ ท่อน และได้ทำการเคลื่อนย้ายจากบริเวณนี้ ไปประกอบเป็นองค์พระพุทธรูปที่อุทยานบุพพาราม (วัดสวนดอกในปัจจุบัน) และสถาปนาชื่อพระพุทธรูปว่า พระพุทธรูปเก้าตื้อ ( คำว่าตื้อ หมายถึง ท่อน คือ พระมีจำนวน ๙ ท่อน หรือ ๙ ส่วน) บางแห่งเขียนบอกว่าเป็นจำนวนนับน้ำหนักของคนล้านนาโบราณ (ตื้อ เท่ากับ สิบ โกฎิ) หลังจากนั้นพญาเมืองแก้ว ก็มีบัญชาสั่งให้นายช่างทำการลื้อเตาส่าทั้งหมด และได้ก้อนอิฐเป็นจำนวนมาก จึงได้ทำการบูรณองค์เจดีย์เดิมของวัด ซึ่งใช้วิธีการสร้างเจดีย์ครอบเจดีย์เดิมอีกชั้นหนึ่ง มีลักษณะเป็นศิลปะล้านนาผสมสุโขทัย และล้านช้าง และได้สถาปนาชื่อวัดว่า “วัดเจดีย์ปันเส่า” วัดเจดีย์ปันเส่ามีความเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ ต่อมาเมื่อพม่าได้เข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ ทำให้วัดเจดีย์ปันเส่าถูกเผาเสียหายทั้งหมด เนื่องจากเสนาสนะทั้งหมดของวัดสร้างด้วยไม้สัก คงเหลือแต่องค์เจดีย์เท่านั้นที่ไม่ถูกทำลาย แต่ก็ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ต่อมาก็มีมารศาสนาได้ลักขุดหาสมบัติภายในองค์เจดีย์ไปจนหมด และร้างนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และคงเหลือแต่องค์เจดีย์ปันเสาเพียงองค์เดียวที่เป็นโบราณสถานระบุว่าเคยเป็นบวิเวณวัดในอดีต ต่อมาสถานที่แห่งนี้ ได้ใช้เป็นที่เลี้ยงช้างทรงของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย และช้างทรงของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี (พระราชายาในรัฐกาลที่ ๕) (ได้มาจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ภายในชุมชนแจ่งหัวริน และชุมชนบ้านป่าพร้าวนอก) จากนั้นก็มีการออกโฉนดที่ดินให้กับวัด โดยมีพื้นที่ทั้งหมด ๒ ไร่ ๒ งาน ๘๒ ตารางวา (ซึ่งพื้นที่อื่น ๆ ของวัดได้ถูกบุกรุก และกลายเป็นที่ดินเอกชน รวมทั้งบางส่วนกลายเป็นที่ราชพัสดุเนืองจากไม่มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงว่าเป็นที่ดินของวัดแต่เดิม) หลังจากนั้นก็มีการแผ่วถางบริเวณเพื่อที่จัดสร้างเป็นโรงพยาบาลสวนดอก (โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ในปัจจุบัน) ต่อมาโรงพยาบาลสวนดอกมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก พื้นที่บริเวณวัดจึงไม่เพียงพอที่จะขยาย โรงพยาบาลสวนดอกจึงได้ย้ายออกไปสร้างในสถานที่แห่งใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หลักจากนั้นศูนย์มาลาเรีย เขต ๒ เชียงใหม่ ได้ทำการขอเช่าที่ดินของวัดกับ กรมการศาสนาในสมัยนั้น ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ ทางศูนย์มาลาเรีย เขต ๒ เชียงใหม่ ได้บอกคืนพื้นที่ของวัดให้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ ทางคณะสงฆ์จึงได้มอบหมายให้พระเทพวรสิทธาจารย์ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ ประธานมูลนิธิพระบรมธาตุดอยสุเทพ ฟื้นฟูให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมอบหมายให้พระมหาอาวรณ์ ภูริปญฺโญ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งริเริ่มจัดตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดปันเสา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะสร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับศรัทธาประชาชนโดยทั่วไป และสร้างเป็นสถานที่สำหรับรองรับพระสงฆ์ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมารับการรักษาพยาบาลที่ตึกสงฆ์ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ แต่ไม่มีที่พักก็จะใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่พักชั่วคราว และจะสร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปัจจุบันนี้กำลังมีการก่อสร้าง “วิหารจันทรสถิตมหาทานบารมีศรีชัยมงคล” (เปี่ยม-เอี่ยม จันทรสถิตย์) และมีการระดมทุนทรัพย์เพื่อก่อสร้างอาคารที่พักรับรองพระสงฆ์จำนวน ๒ หลัง โดยจะใช้เป็นสถานที่รับรองพระสงฆ์จากทั่วสารทิศที่เดินทางมาเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ตึกสงฆ์โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งจะใช้ปัจจัยในการก่อสร้างทั้งหมด ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ยี่สิบล้านบาท) ศรัทธาประชาชนทุกท่านสามารถร่วมเป็นเจ้าภาพในการสร้างวัดแห่งนี้ได้ โดยวัดแห่งนี้จะเป็นวัดเพื่อพระสงฆ์อาพาธจากทิศทั้ง ๔ จะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ผู้ใดพยาบาลภิกษุผู้อาพาธ ผู้นั้นเปรียบเสมือนอุปัฏฐากเราตถาคต”
ที่มา: http://watpansao.in.th/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น