วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553

ประวัติวัดดวงดี โดยย่อ

วัดมีเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่-งาน 60 ตารางวา ซึ่งประวัติของวัดไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัดนัก แต่ตามหลักฐานที่ทางอดีตเจ้าอาวาส (พระอธิการบุญชู อภิปุญฺโญ) ได้ขอให้คุณปวงคำ ตุ้ยเขียว ค้นคว้าและเรียบเรียงประวัติวัดดวงดี เพราะเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของนครเชียงใหม่ วัดดวงดีมีหลายๆ ชื่อ เช่น วัดพันธนุนมดี วัดอุดมดี วัดพนมดี ในปี พ.ศ.2513 คุณปวงคำได้เป็นผู้ช่วยวิจัยในโครงการวิจัยคำจารึกบนฐานพระพุทธรูป ในตำบลศรีภูมิกับตำบลพระสิงห์ โดยมี ดร.ฮันส์ เพนธ์ เป็นหัวหน้า ซึ่งได้พบคำจารึกบนฐานพระพุทธรูปโลหะองค์หนึ่ง ประดิษฐานอยู่ในวิหาร จารึกด้วยอักษรไทยยวน มีความว่า

"สกราชได้ 859 ปีวายสี พระเจ้าตนนีแสนนืงไว้วัดต้นมกเหนือ"
(จ.ศ.858 พ.ศ.2039 สมัยพระเจ้ายอดเชียงรายครองเมืองเชียงใหม่)

พระพุทธรูปองค์นี้ถ้าไม่มีผู้นำมาจากที่อื่น แต่สร้างขึ้นในวัดนี้ หมายความว่าวัดดวงดีต้องสร้างขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2039 วัดดวงดีมีชื่อเรียกอีกอย่างคือ วัดต้นมกเหนือ หรือวัดต้นหมากเหนือ สร้างขึ้นภายหลังที่พญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่แล้ว และคงมีเจ้านายเมืองเชียงใหม่คนหนึ่งเป็นผู้สร้าง ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ กล่าวถึงวัดดวงดี เมื่อ พ.ศ.2304 พระภิกษุวัดนี้ ได้รับนิมนต์ให้ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่เชียงใหม่เป็นอิสระ ก่อนที่พม่าจะกลับเข้ามาปกครองอีกครั้งหนึ่ง (พ.ศ. 2306 - 2317) ลุจุลศักราช 1136 ในปีพ.ศ. 2317 พระเจ้ากาวิละ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทัพพระเจ้ากรุงธนบุรี สามารถยึดเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่าได้ เมื่อวันอาทิตย์ขึ้น 15 ค่ำ เดือนห้าเหนือ เมืองเชียงใหม่จึงเจริญรุ่งเรืองจนถึงปัจจุบัน วัดนี้เคยใช้เป็นสำนักเรียนสำหรับลูกเจ้าขุนมูลนายในสมัยก่อน และยังเคยถูกใช้เป็นสถานที่เรียนของนักเรียนยุพราชวิทยาลัยก่อนที่จะมีการก่อสร้างแล้วเสร็จอีกด้วย
ในปี พ.ศ. 2362 สมัยพระญาธรรมลังกา เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 2 ได้มีการบูรณะและฉลองสมโภช ภายในวัดมีวิหารและหอธรรม ประดับด้วยไม้แกะสลักปิดทองที่สวยงาม
 
ปูชนียสถานที่สำคัญของวัดซึ่งเป็นมรดกล้ำค่า โดยกรมศิลปกรได้ประกาศขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถานแห่งชาติ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 76 ตอนที่108 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 รวม 4 รายการ คือ


๑. วิหาร จากหนังสือประวัติวัดดวงดี พิมพ์เมื่อพ.ศ. ๒๕๑๕ กล่าวว่าแม่เจ้าจันทน์หอมเป็นผู้คิดสร้าง แต่ไม่ทราบปีที่สร้าง แต่พระเทพวรสิทธาจารย์ อดีตเจ้าคณะเชียงใหม่ รูปที่ 8 เมื่อครั้งดำรงสมศักดิ์เป็น เจ้าคุณอุดมวุฒิคุณ รองเจ้าคณะเชียงใหม่ บอกว่าเจ้าอินทรวโรรสสุริยวงศ์ (น้อยสุริยะ) เป็นผู้สร้าง แต่ไม่ปรากฏปีสร้างแน่ชัด ในปี พ.ศ. 2549 กรมศิลปกร ได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ตามรูปแบบเดิม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชย์ครบ 60 ปี และทรงพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในปี พ.ศ. 2550 ลักษณะวิหารเป็นวิหารแบบล้านนา ที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมต้นรัตนโกสินทร์ คุณค่าของวิหารแห่งนี้อยู่ที่ลวดลายแกะสลักไม้ประดับสถาปัตยกรรม เช่น ค้ำยันหูช้างแกะเป็นลวดลายสวยงาม รวมทั้งลวดลายแกะสลักเหนือกรอบประตูทางสถาปัตยกรรม

๒. อุโบสถ ไม่ปรากฏปีที่สร้างและผู้ที่สร้าง ลักษณะเป็นแบบพื้นเมืองล้านนาที่มีแบบอย่างทางสถาปัตยกรรมและลวดลายประดับตกแต่งที่งดงาม รูปทรงโบสถ์มีขนาดเล็กหลังคาซ้อนชั้นแบบล้านนา๒ ชั้น หน้าบันและลวดลายตกแต่งแกะสลักปิดทองประดับกระจก ค้ำยันหูช้างแกะสลักไม้เป็นลวดลาย มีใบเสมาปักโดยรอบ

๓. พระเจดีย์ หนังสือประวัติวัดดวงดีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ กล่าวว่าพระมหาเกสระอดีตเจ้าอาวาสเป็นผู้คิดสร้างไม่ปรากฏปีที่สร้าง ลักษณะสำคัญของพระเจดีย์องค์นี้คือ ฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จมีช้างที่มุมทั้ง ๔ แต่เข้าใจว่ามาเพิ่มเติมทีหลังเพราะลักษณะไม่สัมพันธ์กับองค์เจดีย์ ถัดฐานสี่เหลี่ยมย่อเก็จขึ้นไปเป็นชีพมาลัยเถา ๘ เหลี่ยม องค์ระฆังกลม บัลลังก์ ปล้องไฉน และปลียอด
๔. หอไตร ทำเป็นทรงแบบมณฑป มีหลังคาย่อ ซ้อนกัน 3 ชั้น หน้าต่างทำเป็นซุ้มอยู่โดยรอบ จากสมุดข่อย “ปั๊บหลั่น” ที่บันทึกด้วยอักษรไทยยวนกล่าวว่าเจ้ามหาอุปราชมหาวงศ์ เป็นผู้สร้างเมื่อ จ.ศ. ๑๑๙๑ (พ.ศ. 2372) สร้างเดือน 7เหนือ แรม 11ค่ำ หลังจากสร้างหอไตรถวายวัดดวงดีเสร็จ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ องค์ที่ 5 ของเชื้อเจ้า 7 องค์ ลักษณะทรวดทรงเป็นหอไตรทรงมณฑปที่เป็นแบบพื้นเมืองล้านนา ตัวหอไตรทรงสี่เหลี่ยมก่ออิฐถือปูน ส่วนหลังคาหรือยอดเป็นทรงมณฑปหลังคาซ้อนลดหลั่นกัน ๓ ชั้นประดับด้วยลวดลายตรงบริเวณสันหลังคา

นอกจากนั้นอาคารกุฏิครึ่งปูนครึงไม้ เป็นอาคารเก่าที่มีคุณค่าอีกอาคาร สร้างใน ปี พ.ศ. 2473 โดยพระอธิการอินตา

วัดดวงดีมีพระพุทธรูปซึ่งถือว่าเก่าแก่อยู่คู่กับวัด สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นโดยเจ้านายเมืองเชียงใหม่คนใดคนหนึ่ง แต่ไม่ทราบนามโดยชัดเจน ประมาณในปี พ.ศ. 2039 โดยความที่พระพุทธรูปองค์นี้อยู่คู่กับวัดดวงดีมาเป็นเวลาช้านาน จึงเป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป โดยมักเข้ามากราบนมัสการขอพร ตามคติความเชื่อที่ว่าจะให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างปกติสุข จึงได้ชื่อว่าพระพุทธรูปดวงดี ตามนามของวัด
อ้างอิง:
  • หนังสือประวัติวัดดวงดี, 2515
  • ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และ ศูนย์วัฒนธรรม สถาบันราชภัฏจังหวัดเชียงใหม่. 2535. วัดสำคัญของนครเชียงใหม่. เล่ม 1. เชียงใหม่ : ส ทรัพย์การพิมพ์.

ประวัติวัดปันเส่าโดยย่อ

วัดปันเส่า ( คำว่า เส่า เป็นภาษาล้านนา หมายถึงเตาสำหรับหลอมโลหะ คำว่า ปัน เป็นการนับจำนวนของชาวล้านนา หมายถึง จำนวน ๑,๐๐๐) ตามประวัติศาสตร์ที่พบจากจารึกต่าง ๆ พบว่า วัดปันเสา เป็นวันที่สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์มังราย โดยเริ่มก่อสร้างในรัชสมัยของพญาผายูถึงรัชสมัยของพญากือนา โดยได้สร้างองค์เจดีย์ขึ้นองค์หนึ่งเป็นเจดีย์ขนาดเล็กไม่ใหญ่นัก ต่อมาในสมัยของพญาเมืองแก้ว ทรงมีความดำริที่จะหล่อพระพุทธรูปเจ้าเก้าตื้อ จึงมีบัญชาให้กับนายทหารที่มีฝีมือทางการช่างชื่อปู่ด้ง ได้ไปเสาะหาสถานที่สำหรับหล่อพระพุทธรูป ปู่ด้งจึงเสาะหาตามบัญชา และพบว่าด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ นอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ มีชัยภูมิที่มีความเหมาะสมและเป็นมลคงเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากบริเวณนี้มีน้ำไหลผ่านซึ่งเป็นน้ำที่ไหลมาจากน้ำตกห้วยแก้ว ไหลลงสู่คูเมืองเชียงใหม่ (แด่เดิมไหลผ่านกลางวัดปัน ปัจจุบันได้แห้งไปหมดแล้ว) พญาเมืองแก้ว จึงได้ให้นายช่างทอง ทำการก่อเตาเส่า (เตาหลอมโลหะ) ในบริเวณนี้ จำนวน ๑,๐๐๐ เตา แล้วหลอมโลหะหล่อพระพุทธรูปเป็น ๙ ท่อน และได้ทำการเคลื่อนย้ายจากบริเวณนี้ ไปประกอบเป็นองค์พระพุทธรูปที่อุทยานบุพพาราม (วัดสวนดอกในปัจจุบัน) และสถาปนาชื่อพระพุทธรูปว่า พระพุทธรูปเก้าตื้อ ( คำว่าตื้อ หมายถึง ท่อน คือ พระมีจำนวน ๙ ท่อน หรือ ๙ ส่วน) บางแห่งเขียนบอกว่าเป็นจำนวนนับน้ำหนักของคนล้านนาโบราณ (ตื้อ เท่ากับ สิบ โกฎิ) หลังจากนั้นพญาเมืองแก้ว ก็มีบัญชาสั่งให้นายช่างทำการลื้อเตาส่าทั้งหมด และได้ก้อนอิฐเป็นจำนวนมาก จึงได้ทำการบูรณองค์เจดีย์เดิมของวัด ซึ่งใช้วิธีการสร้างเจดีย์ครอบเจดีย์เดิมอีกชั้นหนึ่ง มีลักษณะเป็นศิลปะล้านนาผสมสุโขทัย และล้านช้าง และได้สถาปนาชื่อวัดว่า “วัดเจดีย์ปันเส่า” วัดเจดีย์ปันเส่ามีความเจริญรุ่งเรืองมาโดยลำดับ ต่อมาเมื่อพม่าได้เข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ ทำให้วัดเจดีย์ปันเส่าถูกเผาเสียหายทั้งหมด เนื่องจากเสนาสนะทั้งหมดของวัดสร้างด้วยไม้สัก คงเหลือแต่องค์เจดีย์เท่านั้นที่ไม่ถูกทำลาย แต่ก็ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ต่อมาก็มีมารศาสนาได้ลักขุดหาสมบัติภายในองค์เจดีย์ไปจนหมด และร้างนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และคงเหลือแต่องค์เจดีย์ปันเสาเพียงองค์เดียวที่เป็นโบราณสถานระบุว่าเคยเป็นบวิเวณวัดในอดีต ต่อมาสถานที่แห่งนี้ ได้ใช้เป็นที่เลี้ยงช้างทรงของเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์สุดท้าย และช้างทรงของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี (พระราชายาในรัฐกาลที่ ๕) (ได้มาจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ภายในชุมชนแจ่งหัวริน และชุมชนบ้านป่าพร้าวนอก) จากนั้นก็มีการออกโฉนดที่ดินให้กับวัด โดยมีพื้นที่ทั้งหมด ๒ ไร่ ๒ งาน ๘๒ ตารางวา (ซึ่งพื้นที่อื่น ๆ ของวัดได้ถูกบุกรุก และกลายเป็นที่ดินเอกชน รวมทั้งบางส่วนกลายเป็นที่ราชพัสดุเนืองจากไม่มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงว่าเป็นที่ดินของวัดแต่เดิม) หลังจากนั้นก็มีการแผ่วถางบริเวณเพื่อที่จัดสร้างเป็นโรงพยาบาลสวนดอก (โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ในปัจจุบัน) ต่อมาโรงพยาบาลสวนดอกมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก พื้นที่บริเวณวัดจึงไม่เพียงพอที่จะขยาย โรงพยาบาลสวนดอกจึงได้ย้ายออกไปสร้างในสถานที่แห่งใหม่และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หลักจากนั้นศูนย์มาลาเรีย เขต ๒ เชียงใหม่ ได้ทำการขอเช่าที่ดินของวัดกับ กรมการศาสนาในสมัยนั้น ต่อมาเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ ทางศูนย์มาลาเรีย เขต ๒ เชียงใหม่ ได้บอกคืนพื้นที่ของวัดให้กับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ ทางคณะสงฆ์จึงได้มอบหมายให้พระเทพวรสิทธาจารย์ รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ ประธานมูลนิธิพระบรมธาตุดอยสุเทพ ฟื้นฟูให้เป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมอบหมายให้พระมหาอาวรณ์ ภูริปญฺโญ เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งริเริ่มจัดตั้งเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดปันเสา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะสร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำหรับศรัทธาประชาชนโดยทั่วไป และสร้างเป็นสถานที่สำหรับรองรับพระสงฆ์ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมารับการรักษาพยาบาลที่ตึกสงฆ์ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ แต่ไม่มีที่พักก็จะใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่พักชั่วคราว และจะสร้างถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปัจจุบันนี้กำลังมีการก่อสร้าง “วิหารจันทรสถิตมหาทานบารมีศรีชัยมงคล” (เปี่ยม-เอี่ยม จันทรสถิตย์) และมีการระดมทุนทรัพย์เพื่อก่อสร้างอาคารที่พักรับรองพระสงฆ์จำนวน ๒ หลัง โดยจะใช้เป็นสถานที่รับรองพระสงฆ์จากทั่วสารทิศที่เดินทางมาเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลที่ตึกสงฆ์โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ซึ่งจะใช้ปัจจัยในการก่อสร้างทั้งหมด ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (ยี่สิบล้านบาท) ศรัทธาประชาชนทุกท่านสามารถร่วมเป็นเจ้าภาพในการสร้างวัดแห่งนี้ได้ โดยวัดแห่งนี้จะเป็นวัดเพื่อพระสงฆ์อาพาธจากทิศทั้ง ๔ จะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ผู้ใดพยาบาลภิกษุผู้อาพาธ ผู้นั้นเปรียบเสมือนอุปัฏฐากเราตถาคต”

ที่มา: http://watpansao.in.th/

ประวัติวัดอุโมงค์ (สวนพุทธธรรม) โดยย่อ

วัดอุโมงค์ หรือ สวนพุทธธรรม สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๔ เป็นวัดเก่าที่พระเจ้ามังรายทรงโปรดให้สร้างขึ้น ณ บริเวณป่าไผ่ ๑๑ กอ เพื่อให้เป็นที่พำนักของพระภิกษุฝ่ายอรัญวาสีจากลังกา ๕ รูป โดยยึดแบบแผนของลังกาเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเขตพุทธาวาส สังฆวาส หรือ รูปทรงเจดีย์ ต่อมารัชกาลที่ ๙ พระเจ้ากือนา ได้ทรงบูรณะองค์เจดีย์ให้โตขึ้น และสร้างอุโมงให้เป็นที่พำนักของ
มหาเถรจันทร์ระหว่าง พ.ศ. ๑๙๑๐-๑๙๓๐ แล้วทรงขนานนามวัดว่า วัดเวฬุกัฏฐาราม ซึ่งหมายถึงไผ่ ๑๑ กอ แต่ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกว่าวัดอุโมง ค์เถรจันทร์
สิ้นสมัยพระเจ้าติโลกราช วัดอุโมงค์ไม่ได้รับการดูแล หรือบูรณะเหมือนในสมัยก่อน ๆ วัดจึงกลายเป็นวัดร้างไป โดยไม่ปรากฏหลักฐานชัดว่าเริ่มร้างจริงๆ เมื่อไร
พ.ศ. ๒๔๙๐ มีพุทธมามกะกลุ่มหนึ่งร่วมกันก่อตั้งพุทธนิคมขึ้น และได้อาราธนาพุทธทาสภิกษุ แห่งสวน
โมกขพลาราม ขึ้นมาแสดงธรรมในเชียงใหม่ ๑๕ วัน และในปีรุ่งขึ้นชาวพุทธนิคมไปเชิญปัญญานันทภิกขุ มาประจำที่เชียงใหม่ และเทศนาโปรดชาวเมืองทุกวันอาทิตย์ และ
วันพระ ต่อมาชาวพุทธนิคม ได้พากันไปบูรณะบริเวณวัดอุโมงค์ ซึ่งร้างมานานนั้นขึ้นเป็น “สวนพุทธธรรม”
และเป็นสำนักงานของหนังสือพิมพ์ “ชาวพุทธ” วารสารรายเดือน ซึ่งเริ่มออกใน พ.ศ. ๒๔๙๕
ประวัติความเป็นมา
นอกจากบูรณะเจดีย์เก่า อุโมงค์เก่า พระพุทธรูปเก่า ให้คงสภาพดีดังเดิมแล้วยังได้สร้างศาลา กุฏิ ห้องสมุด และอาคารที่จำเป็นต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จนวัดอุโมงกลับคืนสภาพเป็นวัดที่สมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง

ที่มาของข้อมูล: ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และ ศูนย์วัฒนธรรม สถาบันราชภัฏจังหวัดเชียงใหม่. 2535. วัดสำคัญของนคร
เชียงใหม่. เล่ม 3. เชียงใหม่ : ส ทรัพย์การพิมพ์.