วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หอคำ

หอคำ เป็นสิ่งที่ออกแบบปลูกสร้างโดยช่างชำนาญในวัง (สล่าหลวง) พบว่ามีการใช้คำนี้ในสายวัฒนธรรมไทยยวน ไตลื้อ ไตขึน และไตใหญ่ เป็นต้น เป็นอาคารที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัย หรือ เป็นที่ว่าการและต้อนรับแขก ของพญา กษัตริย์ และเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงในราชสำนัก เท่าที่ผู้เขียนทราบ มีหอคำโบราณที่สร้างด้วยไม้ ที่หลงเหลืออยู่ในเชียงใหม่หนึ่งแห่ง คือ วิหารวัดพันเตาในเมืองเชียงใหม่ เป็นหอคำของพระอุปราชเจ้ามโหตรประเทศ มีหอคำผู้ครองนครลำปางอีกหนึ่งหลังที่ถูกรื้อไปสร้างใหม่ที่เมืองโบราณ จังหวัดสมุทรปราการ และพบมีหอคำเก่าที่เมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา ที่เหลือที่มีการเรียกแต่ต่างลักษณะ เป็นหอคำที่สร้างขึ้นในช่วงเวลาไม่เกินร้อยกว่าปี ที่มีรูปแบบผสมผสานกับสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกและรัตนโกสินทร์ เช่น หอคำผู้ครองนครน่าน


หอคำสร้างด้วยไม้สักชั้นดี ยกพื้นอาคารสูงเหมือนกับเรือนและตำหนักทั่วไป เพื่อสุขะอนามัย และป้องกันสัตว์ร้ายและศัตรู หอคำของพญามหากษัตริย์ชั้นสูงจะมีขนาดใหญ่ และลดหลั่นขนาดกันลงมาตามฐานันดรศักดิ์ ใช่ว่าเชื้อพระวงศ์ทุกคนจะมีหอคำ เฉพาะผู้มีตำแหน่งสำคัญชั้นสูงเท่านั้นและต้องเป็นผู้ชาย คือ กษัตริย์ พระอุปราช และ เจ้าเมือง เป็นต้น หอคำเกี่ยวเนื่องกับอำนาจและบทบาททางการเมือง จึงมีการใช้งานเหมือนท้องพระโรงหรือที่ประชุม ปรึกษา ว่าราชการ ขณะเดียวกันเป็นที่อยู่อาศัยได้ด้วย



โครงสร้างของหอคำในภาคเหนือและที่สิบสองปันนาเท่าที่มีหลักฐาน พบว่ามีพื้นฐานของรูปแบบโครงสร้างมาจากเรือนพักอาศัย หากหอคำมีขนาดใหญ่จะใช้โครงสร้างแบบเทคนิคการถ่ายเทน้ำหนักที่เรียกว่า "ม้าต่างไหม" อันเป็นภูมิปัญญาเฉพาะด้านการก่อสร้างของชาวไตลื้อและไตยวนโบราณ หอคำที่เก่ามากๆ จะมีระนาบหลังคาจั่วเรียบง่ายไม่ซับซ้อน มีลักษณะเป็นจั่วแฝด คล้ายเรือนกาแล หอคำหลังยุคทองของล้านนาลงมา มีรูปแบบเหมือนวิหารแต่ยังมีการยกพื้นอาคารสูง วิหารวัดพันเตาในเมืองเชียงใหม่ที่เป็นหอคำเดิม เมื่อถูกนำมาถวายวัด มีการตัดเสาหอคำ และตั้งเสาบนฐานก่ออิฐสอปูน และขยับโครงสร้างผนังและหลังคา ทำให้สัดส่วนและลักษณะเป็นแปลงไป



วัดในวัฒนธรรมไตยวน ในพื้นที่ตอนล่างลุ่มน้ำโขงลงมา แต่โบราณมีส่วนประกอบสำคัญในผังเพียง เจดีย์ วิหาร และอุโบสถ โดยที่วิหารเป็นวิหารโถงไม่มีผนังปิดล้อมเหมือนปัจจุบัน อุโบสถไม่ได้มีทุกวัด และมีขนาดเล็ก ไม่ได้มีการใช้งานบ่อยเหมือนเช่นวิหาร เมื่อคนในชุมชนและเมืองมีจำนวนมากขึ้น ขนาดของอาคารต่างๆ จึงต้องขยายให้ใหญ่รองรับผู้คนได้ ศาลารายหรือศาลาบาตร จึงมีความจำเป็นและถูกสร้างขึ้นมาในสมัยหลัง ฉะนั้น หอคำและวิหารในสมัยโบราณจึงมีความแตกต่างกันที่ วิหารไม่มีผนัง ส่วนหอคำมีผนังแบบไม้ประกนที่เรียกว่า "ฝาตาผ้า" เนื่องด้วยหอคำมีการใช้งานโดยผู้คนมากกว่าและเกือบตลอดเวลา จึงต้องการความเป็นส่วนตัวและการป้องกันด้านภูมิอากาศ โดยเฉพาะฤดูหนาว การที่วิหารในสมัยหลังมีการก่อผนังโดยรอบ เพราะวิหารถูกนำมาใช้เป็นที่จำวัด จำพรรษาของภิกษุบางรูปในสมัยหลัง และเมื่อสังคมเปลี่ยนไป ความต้องการการเป็นส่วนตัว และความต้องการการป้องกันโจรโขมยของมีค่าต่างๆ ในวิหาร จึงถือเป็นความจำเป็น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น