"แป้น" เป็นภาษาล้านนา หมายถึง วัสดุที่มีลักษณะเป็นแผ่น ส่วนคำว่า "น้ำย้อย" เป็นคำที่แสดงให้เห็นอาการไหลหยดลงของน้ำ รวมความแล้วหมายถึง ชิ้นส่วนโครงสร้างปลายผืนหลังคาที่เป็นแผ่นเชิงชาย ใช้ปิดแนวไม้จันทันหรือกลอน และช่วยกันน้ำที่ไหลจากผืนหลังคาลงมาที่ขอบชายไม่ให้ไหลย้อนเข้าใต้ผืนหลังคา ซึ่งจะทำให้น้ำกระเด็นเข้าสู่พื้นที่พักอาศัยใต้ชายคา แป้นน้ำย้อยจะช่วยดักให้น้ำที่ไหลตามผืนหลังคาลงมาหยดลงตามแนวโน้มถ่วงของโลกในแนวดิ่ง
สมัยโบราณแป้นน้ำย้อยไม่มีการฉลุลาย ตั้งแต่ประมาณปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ลงมา จากการที่อิทธิพลศิลปสถาปัตยกรรมแบบวิคตอเรียล ที่มากับชาวอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม การค้าไม้และของป่า ประกอบกับความนิยมสถาปัตยกรรมใหม่ๆ แบบตะวันตก ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ได้นำเข้ามา ทำให้เกิดความนิยมในการฉลุลายและตกแต่งโครงสร้างอาคารและส่วนประกอบต่างๆ ส่งอิทธิพลต่อรสนิยมแบบร่วมสมัยในยุคนั้น ที่ผสมผสานนำเอาการตกแต่งดังกล่าวไปใช้ สถาปัตยกรรมล้านนาที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้เริ่มจาก ตำหนักหรือคุ้มเจ้าผู้ครองนครและราชวงศ์ กุฏิสงฆ์ อาคารทางศาสนาบางประเภท ได้แก่ หอไตร หอเด็ง (หอระฆัง) หอพระ วิหาร เป็นต้น นอกจากนั้นรสนิยมดังกล่าวได้กระจายไปสู่การสร้างร้านค้าและเรือนของพ่อค้าวานิช และสู่ชาวบ้านโดยทั่วไป พื้นที่ทางตอนใต้เมืองเชียงใหม่ลงไปบนที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของคนเมืองจำนวนมาก มีบ้านเรือนที่สร้างแล้วนำรูปแบบของเรือนขนมปังขิงไปประยุกต์ใช้ ที่เรียกว่า "เฮือนสละไน" ตัวอย่างที่โดดเด่นได้แก่เรือนในแถบอำเภอจอมทอง สันป่าตอง แม่แจ่ม ป่าซาง (ลำพูน) เป็นต้น
ที่มาของรูปตัวอย่างแป้นน้ำย้อย: lannawoodsmith.com