วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

พัฒนาการสถาปัตยกรรมล้านนา (ตอน ๑)

เรื่องราวทางสถาปัตยกรรมของล้านนา มีพัฒนาการเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของบริบททางประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ของชนชาติไท ซึ่งมีมานานหลายพันปี ชาวไตยวนเป็นชาติพันธุ์หลักในล้านนาที่สืบสานวัฒนธรรมสืบเนื่องกับวัฒนธรรมไทเดิมในยูนนาน เช่นเดียวกับชาวไตใหญ่ ชาวไตลื้อและไตกลุ่มกลุ่มต่างๆ ซึ่งนักวิชาการไทยและจีนบางส่วนสันนิษฐานกันตามหลักฐานทางโบราณคดีอันเก่าแก่ ด้านการตั้งที่อยู่อาศัยบนแอ่งที่ราบติดแม่น้ำแยงซีเกียง สร้างเรือนยกพื้นสูง การใช้เครื่องปั้นดินเผาก้นมนและแบบมีฐานสามเส้า และเครื่องใช้สัมฤทธิ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมชาวปาโบราณ ก่อนที่ราชวงศ์ฉินของจีนจะมารุกราน พงศาวดารจีนมีหลักฐานการกล่าวถึงชนชาติที่อยู่บริเวณแถบต้นลุ่มน้ำแยงซีเกียง และกล่าวถึงชาวไป๋ (ปาไป๋ซีฟู่) ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ในปัจจุบันได้ลงความเห็นว่าเป็นต้นตระกูลของคนไท เพราะรูปลักษณะสันฐาน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ รูปแบบที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ไม้สอย ยังสอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทอยู่ในปัจจุบัน หลักฐานที่เห็นได้ชัดได้แก่ กลองมโหระทึกสำริด การแต่งกายของคนและสิ่งปลูกสร้างที่ปรากฏอยู่บนเครื่องสำริด และวัฒนธรรมการกินข้าวเหนียว

หลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับรูปแบบการอยู่อาศัยเก่าแก่ที่สุดขุดพบอิฐโบราณ มีการแกะสลักรูปบ้านเรือนยกใต้ถุนสูง มีชานเรือน และมีหลังคาเรือนมุงด้วยหญ้าหรือใบไม้แห้ง มีการใช้วัวและม้าเทียมเกวียน อิฐโบราณนั้นมีอายุมากกว่า ๑,๕๐๐ ปี เช่นเดียวกันกับกลองมโหระทึกที่มีประติมากรรมสิ่งก่อสร้างที่อยู่อาศัยยกพื้นสูง และเรือบนกลองสำริด ตามหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีของจีนก็พบหลักฐานการขุดฝังเสาเรือนลงไปในดินของกลุ่มชาวปา ชาวไป๋ ทุกวันนี้ชาติพันธุ์ที่มีเชื้อสายเกี่ยวโยงกับชาวปา ชาวไป๋โบราณ ได้มีจำนวนมากในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแยงซีเกียง ไล่ลงมาทางทิศใต้ของยูนนาน เชื่อมต่อไปยังกวางสีและกวางตุ้ง ซึ่งมีชนเผ่าทางตอนใต้ประเทศจีนที่มีวัฒนธรรมไทจำนวนมาก เช่น เผ่าจ้วง และแน่นอนที่เห็นได้ชัดคือทางตอนเหนือของเวียตนาม ลาว ไทย พม่า และอินเดีย เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของคนไทอย่างปฏิเสธไม่ได้

เรือนอยู่อาศัยเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการดำรงชีพ พบว่าเรือนชาวไทเผ่าต่างๆ สร้างด้วยระบบเสาคานไม้เนื้อแข็ง หรือไม้ไผ่ ยกพื้นสูง มีชานแดด ชานร่ม ห้องในเรือนเป็นห้องนอนเป็นหลัก ซึ่งแต่โบราณสมาชิกในครอบครัวใช้ที่ว่างในห้องนอนร่วมกัน อาจมีการกั้นด้วยผ้าเกิ้ง (ม่าน) ไม่มีการทำห้องนอนหลายห้อง โครงสร้างเรือนส่วนใหญ่เป็นไม้ไผ่ ไม่ว่าจะเป็น เสา คาน ตง ผนัง นิยมใช้หญ้าคามุ่งหลังคาเรือน ใต้ถุนเรือนใช้เก็บเครื่องใช้กสิกรรม เลี้ยงไก่เลี้ยงหมูบ้าง นิยมนั่งพักผ่อนหรือทำงานบนชานหรือชานร่ม (เติ๋น)

วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ความสัมพันธ์ของสถาปัตยกรรมหริภุญชัยและสถาปัตยกรรมล้านนา

หริภุญไชยเป็นแคว้นที่ขึ้นตรงต่อลวะปุระ (ละโว้) พระนางจามเทวีเป็นกษัตรีพระองค์แรก นำไพร่พลและศาสนา และศิลปวิทยาการต่างๆ เสด็จล่องแพมาทางลำน้ำปิง เมื่อเลยบริเวณสบทาขึ้นมาทางบริเวณด้านใต้ของเมืองที่วางผังสร้างเมืองรอไว้โดยฤาษีวาสุเทพแห่งอุชุปัตตา (ดอยสุเทพ) พระองค์เสด็จขึ้นฝั่งและตั้งค่ายอยู่ริมแม่น้ำกวงที่เป็นหมู่บ้านลัวะ (ละว้า) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดกู่ลัวะมัก (รมณียาราม) ต.ต้นธง จ.ลำพูน พระนางก่อเจดีย์และสร้างวัดเป็นแห่งแรก ณ ที่นั่น ก่อนดำเนินการทำพิธีต้อนรับเข้าปกครองเมืองหริภุญชัยอย่างเป็นทางการของเหล่าไพร่พลและชาวลัวะพื้นเมืองหริภุญชัยมีพัฒนาการมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ มีศิลปวัฒนธรรมเจริญรุ่งเรืองสูงสุด ปรากฏหลักฐานในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ พญามังราย กษัตริย์หนุ่มเชื้อสายไทโยน (โยนก) แห่งราชวงศ์ลาว ที่มีลวจังกราชแห่งเมืองหิรัญนครเงินยางเป็นปฐมกษัตริย์ ณ ลุ่มน้ำกก หลังจากทรงสร้างเมืองเชียงรายและเมืองพร้าว พญามังรายได้เข้ายึดเมืองหริภุญชัยในสมัยพญายีบาปกครอง พ.ศ. ๑๘๓๖ และสร้างเวียงกุมกามคร่อมเมืองท่าเก่าริมแม่น้ำปิง ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเป็นราชธานีใหม่ ปราบดาภิเษกตั้งขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ต้นราชวงศ์มังราย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๙ ขณะนั้นแม้ว่าหริภุญไชยจะอยู่ภายใต้การปกครองของล้านนา แต่ยังคงความเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาและศิลปกรรมในที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง พญามังรายยอมรับเอาพระพุทธศาสนาจากหริภุญไชยมานับถือและทำนุบำรุงต่อเนื่อง (ขณะเดียวกันก็เริ่มสัมพันธไมตรีต่อสุโขทัยและภูกามยาว) มีการยอมรับรูปแบบของงานสถาปัตยกรรมหริภุญชัย มาสร้างเป็นสถาปัตยกรรมในยุคนั้น เช่น เจดีย์เหลี่ยมหรือกู่คำ ซึ่งพระองค์โปรดให้สร้างขึ้นที่ เวียงกุมกาม ก่อนจะเสด็จไปสร้างเมืองเชียงใหม่ รูปแบบของเจดีย์กู่คำมีต้นแบบมาจากเจดีย์กู่กุด วัดจามเทวี แม้ในสมัยต่อมายุคพระเจ้าแสนภู พระราชนัดดาพญามังราย ยังมีการสร้างเจดีย์ป่าสัก ที่เมืองเชียงแสน ที่ปรากฏอิทธิพลทางด้านรูปแบบมาจากเจดีย์เชียงยันที่ตั้งอยู่ในเมืองหริภุญชัย ผสมผสานกับศิลปเชียงแสนและพุกาม นอกจากนั้นยังมีรูปแบบเจดีย์แบบทรงพิเศษแบบฐานทรงกลมซ้อนชั้นลดหลั่นคล้ายทรงปราสาท ดังเช่น เจดีย์วัดพวกหงษ์ในเมืองเชียงใหม่ ที่พัฒนาสร้างสรรค์ปรับเปลี่ยนมาจากรูปแบบของเจดีย์กูกุดและเจดีย์คำ (สุวรรณโกฏ) ในเมืองหริภุญชัย ภายหลังเกิดรูปแบบของพัฒนาการเจดีย์ในล้านนาที่งดงามหลากหลาย จนเกิดรูปทรงเจดีย์ล้านนาในยุคทองที่งดงามลงตัวหลายแบบ เช่น เจดีย์ล้านนาทรงกลมบนฐานเหลี่ยมย่อมุมแบบที่วัดพระธาตุหริภุญชัย เจดีย์ทรงเหลี่ยมลดชั้นบนฐานเหลี่ยมย่อมุมแบบพระธาตุดอยสุเทพ และเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมที่วัดเจ็ดยอดในเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น ศิลปกรรมพระพุทธรูปได้ส่งอิทธิพลถึงรูปแบบพระพุทธรูปของล้านนาด้วยเช่นกัน เช่น พระพุทธรูปทรงเครื่องแบบละโว้ (เช่น ที่ประดิษฐานในพิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุหริภุญชัย) พระพุทธรูปในรูปแบบพระเจ้าแข้งคม (เช่น ที่วัดศรีเกิด ในเมืองเชียงใหม่) เป็นต้น สิ่งสำคัญอีกประการที่เกิดขึ้นในยุคพญามังรายคือการประดิษอักษรล้านนาขึ้นใช้ โดยพัฒนามาจากอักษรมอญโบราณของหริภุญชัย (นิยมใช้จารลงใบลานและบันทึกลงปั๊บสา) ขณะเดียวกันมีการยอมรับอักษรขอมจากสุโขทัยมาใช้ร่วมด้วย (ใช้ในการจารึกหลักศิลา)

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ตูบ

เรือนเครื่องผูกภาคเหนือ ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า "ตูบ" หมายถึง เรือนที่สร้างขึ้นด้วยไม้บั่ว (ไม้ไผ่) เป็นหลัก ใช้ไม้ไผ่หลายชนิด เช่น ไม้ซาง ไม้ฮวก (รวก) ไม้ตง โครงสร้างเสาเป็นลำไม้ไผ่ หรือไม้เนื้อแข็ง พื้นเป็นไม้ฟากหรือลำไม้ไผ่ทุบเป็นฟาก ฝาทำด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ เป็นลายสอง ลายสาม หรือใช้แผงไม้ซางสานเป็นลายต่างๆ เช่น ลายอำ บ้างก็ใช้ฟากทำเป็นผนังก็มี หลังคาสร้างด้วยโครงไม้ไผ่ โดยการยึดโครงสร้างต่างๆ ใช้วิธีเจาะรูและฝังเดือย ประกอบกับการผูกด้วยดอกหรือหวาย หลังคามุงด้วยหญ้าคาหรือใบตองตึง บางแห่งอาจพบว่าใช้ใบคล้อมุง ในตูบมีห้องนอนเดียว โบราณมีการใช้เตาไฟในห้องนอน แต่หลักฐานที่พบในปัจจุบันไม่เกิน ๘๐ ปีที่ผ่านมา มีชานด้านข้างห้องนอนเชื่อมไปยังบริเวณครัวไฟด้านหลังเรือน ไม่ปรากฏมีการทำเตาไฟในห้องนอน สมาชิกของครอบครัวบางครอบครัวอาศัยนอนในห้องนอนเดียวกัน ซึ่งได้แก่พ่อ (เจ้าบ้าน) แม ลูกสาว อุ๊ย (ปู่ บ่า ตา หรือ ยาย) ลูกชายถ้าเริ่มเป็นวัยรุ่น นิยมย้ายไปนอนหน้าห้องนอนที่เป็นพื้นที่ที่เรียกว่า "เติ๋น" เพื่อความเป็นส่วนตัว ตูบไม่มีห้องส้วมหรือห้องน้ำในเรือน คนล้านนาโบราณใช้ชายทุ่งชายป่าเป็นแหล่งขุดหลุมส้วม ภายหลังประมาณ ๖๐ ปีที่ผ่านมามีการสร้างตูบส้วม จนพัฒนามาเป็นตูบส้วมซึม เรือนตูบบางหลังสร้างเรือนครัวแยกออกมาใกล้ๆ ตูบ ด้วยโครงสร้างลักษณะเดียวกันกับตูบแต่เล็กและซับซ้อนน้อยกว่าปัจจุบันไม่ค่อยพบเห็นตูบ คนรุ่นใหม่มองว่าเป็นที่อยู่อาศัยของคนยากจน ส่วนมากที่พอหลงเหลือให้เห็นเป็นการสร้างเถียงนา (ห้างนา) สำหรับไว้เฝ้านา หรือสร้างเป็นร้านค้าบางอย่าง เช่น ร้านเหล้าตอง ร้านขายอาหารพื้นเมือง ร้านขายผักไม้ต่างๆ ตามซอกซอยในหมู่บ้านหรือในกาดก้อม (ตลาดเล็กๆ) กาดงัว (ตลาดนัด) เป็นต้น โบราณนิยมสร้างเป็นเรือนหอชั่วคราวสำหรับการสร้างครอบครัวใหม่ของหนุ่มสาวเวลาออกเรือน ซึ่งสร้างอยู่ในบริเวณบ้านของผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาว เพื่อการติดตามดูพฤติกรรมการครองเรือนที่เหมาะสมของลูกเขยกับลูกสาว ภายหลังเมื่อมีความพร้อมจึงสร้างเรือนหลังใหม่ที่ถาวรขึ้นแทน ตูบนับว่าเป็นเรือนพักอาศัยพื้นฐานของประชาชนทั่วไปนับแต่โบราณกาลก่อนสมัยล้านนา เรือนไม้สักชั้นดีจะถูกจัดให้เป็นที่พักอาศัยของพญา มหากษัตริย์ และเจ้าขุนมูลนายต่างๆ ชาวพื้นบ้านล้านนาเริ่มแพร่ขยายความนิยมสร้างบ้านด้วยไม้เนื้อแข็งโดยเฉพาะไม้สักก็เมื่อสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ผ่านมา ที่มีชาวอังกฤษและพม่าที่เป็นพ่อค้าไม้ มาสัมปทานไม้ส่งออกไปต่างประเทศ และสร้างบ้านเรือนตนเองด้วยไม้สักและไม้เนื้อแข็งชนิดอื่นๆ ขึ้นมากมาย เศรษฐกิจและสังคมที่เริ่มเปลี่ยนแปลง ทำให้คติการใช้ไม้สักและไม้เนื้อแข็งสร้างบ้านของไพร่ไททั้งหลายจึงเปลี่ยนแปลงไป ความเชื่อที่ว่าไม่เหมาะสมและไม่เป็นมงคลจึงได้สูญหายไป ถือเป็นสิทธิของผู้มีกำลังเงินซื้อวัสดุไม้มาปลูกบ้านดังเช่น พ่อค้าและชาวต่างชาติที่เข้ามาในล้านนาทั้งหลาย

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ชาติพันธุ์ดั้งเดิมก่อนตั้งอาณาจักรล้านนา

ดินแดนแหลมทองของประเทศไทยแต่โบราณมีชนเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่ในพื้นที่หลากหลายและกระจัดกระจาย ในจำนวนประชากรที่น้อย ชนเผ่ามากมายยังหลงเหลือหลักฐานทางชาติพันธุ์ที่ตั้งหลักแหล่งอยู่บ้าง พบได้มากในพื้นที่ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในสหภาพพม่า ในเขตสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เชื่อมต่อกับพื้นที่เอเชียอาคเนย์ ส่วนในประเทศไทย มีชาวละว้า มอญ และขอม เป็นชาติพันธุ์หลักที่เป็นที่ยอมรับกันทางด้านวิชาการ สันนิษฐานว่าในอดีตนั้นชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในเขตประเทศไทยคงมีอยู่เป็นจำนวนมากกว่าสามชาติพันธุ์ที่กล่าว ที่มีการกล่าวถึงกันบ้าง ได้แก่ ชาวขมุ ชาวถิ่น ชาวบลารี (ผีตองเหลือง) ชาวกุย ฯลฯ โดยที่ยังไม่มีชนเผ่าชาติพันธุ์อพยพสายธิเบต (เช่น กะเหรี่ยง ปากะญอ) และสายจีน (เช่น ม้ง เย้า) ที่มีประวัติศาสตร์การเคลื่อยย้ายกันเข้ามาในประเทศไทยไม่เกินช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนทางตอนใต้ของประเทศไทยในอดีตมีการอพยพของชาวเกาะ จากสุมาตราและอินเดียกันมาเรื่อยๆ หลายสมัยมานานนับหลายพันปีแล้ว ชาติพันธุ์ทางตอนใต้ได้แก่ มนุษย์ชวา ซาไก มอแกน เป็นต้น

ประชากรชนเผ่าที่มีจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ที่เมืองที่เป็นราชธานีของแคว้นหรืออาณาจักร ซึ่งได้รับการยอมรับโดยหลักฐานที่พิสูจน์กันแล้วว่าเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรมในยุคต้นคือเมืองละโว้ (ลพบุรี) เป็นราชธานีของชาวละว้า เมื่อประมาณ ๒,๒๕๐ ปีที่แล้ว ชนชาติละว้าเป็นชาติที่ใหญ่และเจริญที่สุดในสุวรรณภูมิ ชื่อเมืองนี้ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า มาจากคำว่า ลัวะ หรือ ละว้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยเป็นเจ้าของดินแดน ในบริเวณลุ่มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยามาก่อน แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากชื่อเมืองลวปุระ ที่อยู่ในอินเดียและอาจผันมาเป็นลพบุรี ซึ่งหมายความว่า เป็นเมืองของพระลวะหรือพระลพ ผู้เป็นโอรสของพระราม ที่เมืองละโว้มีหลักฐานทางโบราณคดีในการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์เกินกว่า ๔,๕๐๐ ปี เกิดพัฒนาการของชุมชนหมู่บ้าน เจริญขึ้นเป็นเมืองและแคว้น

ภายหลังเมื่ออาณาจักรทวาราวดีถูกตั้งขึ้นและเรืองอำนาจ ซึ่งบันทึกของพระถังซำจั๋งในศตวรรษที่ ๑๒ กล่าวถึงชื่อทวาราวดีว่า โถโล โปลี เป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองทางการค้ามาก เป็นเมืองท่า เจริญด้านการศึกษา และเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทในสุวรรณภูมิ ทิศตะวันตกติดต่อกับอาณาจักรศรีเกษตร (พุกาม หรือพม่าในปัจจุบัน) ทิศตะวันออกติดกับอีสานปุระ (ขอม) อาณาจักรทวาราวดีมีเมืองนครปฐมเป็นศูนย์กลางของอาณาจักร ได้ขยายขอบเขตทางการเมืองขึ้นไปทางเหนือ ละโว้ถูกตั้งให้เป็นเมืองสำคัญอย่างต่อเนื่อง ระบบการปกครองในอาณาจักรละโว้และเมื่อภายหลังเป็นส่วนหนึ่งของทวาราวดีมีแบบแผนพัฒนาการเป็นของตนเอง ขอบเขตพื้นที่ประกอบด้วยอาณาจักรย่อยๆ แยกปกครองกันอยู่ ๓ ส่วน คือ อาณาจักรทวาราวดี บริเวณภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน คลุมพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดพิษณุโลก จรดจังหวัดราชบุรีทางตอนใต้ และจรดปราจีนบุรีทางภาคตะวันออก ส่วนที่สองเป็นอาณาจักรละว้าทางภาคเหนือในเขตลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำโขง แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง และแม่น้ำน่าน อาณาจักรโคตรบรู เป็นส่วนที่สาม อาณาจักรส่วนทางเหนือและทางอีสานถูกปกครองด้วยอำนาจทางการเมืองอย่างไม่เข้มงวดนัก อาณาจักรทวาราวดีมีเมืองสำคัญ ๓ เมืองด้วยกันคือ เมืองนครปฐม เป็นราชธานี เมืองละโว้ เมืองลูกหลวง และเมืองเสียมหรือสยาม (ภายหลังคือเมืองสุโขทัย)

เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๔๐๐ เป็นต้นมา ขอมแผ่อำนาจมาในอาณาจักรทวาราวดีและส่งคนมาครอบครองเช่นเมืองขึ้นธรรมดา มีการแบ่งการปกครองออกเป็น 2 มณฑล คือ มณฑลฝ่ายใต้ และมณฑลฝ่ายเหนือ มณฑลฝ่ายใต้มีเมืองละโว้ที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นลพบุรีให้เป็นศูนย์กลาง ฝ่ายเหนือมีเมืองสยามเป็นศูนย์กลาง การขยายอำนาจของขอมทำให้ชาวละว้า ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้การปกครอง ชาวละว้าส่วนใหญ่รักความเป็นอิสระไม่สมัครใจจะอยู่ในสภาพเช่นนี้ จึงมีการอพยพขึ้นไปทางเหนือเพื่อไปแสวงหาดินแดนตั้งถิ่นฐานกันใหม่ บริเวณภาคเหนือของประเทศไทยในอดีตเกินกว่าสองพันปีเป็นพื้นที่ว่างเปล่าทางการเมือง ชาติพันธุ์ละว้า (ลัวะ) อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนตอนเหนือ กระจายตัวและตั้งรกรากตามพื้นที่เมืองสำคัญต่างๆ โดยพิจารณาจากหลักฐานการตั้งถิ่นฐานทางชาติพันธุ์ที่หลงเหลือ ได้แก่ บางพื้นที่ที่ปัจจุบันนี้เป็นพื้นที่ของเมืองสุพรรณบุรี กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย เชียงตุง เชียงรุ่ง พยาก เมืองลา ฯลฯ

การล่มสลายของอาณาจักรทวารวดีภายใต้อำนาจทางการเมืองของขอมในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายทางการเมืองของชาวละโว้ครั้งใหญ่ โดยการนำของพระนางจามเทวี ที่นำไพร่พลและผู้มีวิชาความรู้จำนวนมากเดินทางไปตั้งถิ่นฐานและปกครองเมืองหริภุญชัย ที่สร้างขึ้นในพุทธศักราช ๑๒๐๓ โดยพระฤๅษีวาสุเทพได้ร่วมกับพระสหายสร้างเมืองหริภุญชัย คล้ายรูปเปลือกหอย เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระฤๅษีวาสุเทพจึงได้ให้นายคะวะยะนำสาส์นมายังพระเจ้ากรุงละโว้ เพื่อขอพระนางจามเทวีไปปกครองเมืองหริภุญชัย พระนางจามเทวีได้เสด็จจากเมืองละโว้ ปีพุทธศักราช ๑๒๐๕ เป็นเวลานาน ๗ เดือนมาถึงเมืองหริภุญชัย ปีพุทธศักราช ๑๒๐๖ พระฤๅษีและชาวเมืองหริภุญชัยได้ทำพิธีอัญเชิญพระนางจามเทวีขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์แรก มีพระมหากษัตริย์สืบราชวงศ์มาถึงสมัยพระยายีบา รวมทั้งสิ้นจำนวน ๔๙ พระองค์ พระยายีบาเป็นองค์สุดท้าย รวมราชวงศ์พระนางจามเทวีครองเมืองลำพูนได้นาน ๖๑๘ ปี สิ้นสุดราชวงศ์ ปีพุทธศักราช ๑๘๒๔

พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ชาติพันธุ์ไต (ไตยวน) ได้เคลื่อนย้ายลงมาจากพื้นที่ที่เป็นส่วนใต้ของมณฑลยูนนานครั้งใหญ่ มีการขับไล่พวกกรอม (ขอม) ออกจากพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ดังตำนานและพงศาวดารล้านนาหลายฉบับกล่าวถึง การยึดเมืองสุวรรณโคมคำอุโมงคเสลา ที่ตั้งอยู่ตรงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำในปัจจุบัน เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวไตยวนที่ชัดเจน ในตำนานและพงศาวดารล้านนาต่างๆ ยังได้กล่าวถึงชนพื้นถิ่นเจ้าของพื้นที่เดิมที่ชาวล้านนาเรียกว่า "ลัวะ" ที่มีแว่นแคว้นในบริเวณนี้หลายเมือง ชาวไตยวนและชาวลัวะได้เชื่อมสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี โดยอาศัยการสร้างความเข้าใจและอยู่ร่วมกันได้ โดยมีการตั้งอาณาจักรเล็กๆ ชื่อว่า "หิรัฐนครเงินยาง" ภายใต้ผู้นำคนแรกชื่อว่า "ลวะจังกรราช" นับจากนั้นอาณาจักรเล็กๆ นี้ก็ได้เติบโตและขยายขอบเขตออกไปโดยรอบ และมีการสร้างเมืองจำนวนมาก ภายใต้ชื่ออาณาจักรใหม่ว่า "โยนกนาคนคร" (โยนกชัยบุรีสรีช้างแส่น) โดยมีเมืองหิรัญนครเงินยางยังเป็นราชธานี มีกษัตริย์ปกครองกันมาถึง ๒๖ องค์ ภายใต้ชื่อ ราชวงศ์ "ลาว"

พระเจ้าพรหมมหาราช หรือ พระเจ้าพรหมกุมาร (มหาราชองค์แรกของไทย) เป็นราชบุตรของพระเจ้าพังคราช ได้ต่อสู้ขับไล่พวกขอมออกไปจากดินแดน หลังจากที่ขอมพยายามโจมตีแย่งดินแดนคืนราวปี พ.ศ. ๑๔๘๐ ถึง พ.ศ. ๑๕๔๑ พระองค์ยกเมืองให้พระราชบิดาปกครองส่วนพระองค์ได้สร้างเมืองไชยปราการ (อำเภอฝาง) ขึ้นใหม่ พระเจ้ามังรายมหาราช หรือ พญามังรายเจ้า (มหาราชของไทยอีกพระองค์) กษัตริย์องค์ที่ ๒๖ ขึ้นครองราชต่อจากพระราชบิดา เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๔ ทรงเป็นเพื่อนร่วมสาบานกับพ่อขุนรามคำแหงแห่งอาณาจักรสุโขทัย และพญางำเมืองแห่งอาณาจักรพะยาว พญามังรายได้รวบรวมเมืองของชาติพันธุ์ไตน้อยใหญ่ที่อยู่ข้างเคียง รวมเข้าเป็นปึกแผ่นให้แน่นหนาขึ้นเพื่อเตรียมต้านทานการบุกรุกโจมตีของราชวงศ์มองโกลทางตอนเหนือ และตั้งเมืองกุมกาม ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนา

พุทธศตวรรษที่ ๑๙ นับได้ว่าขอมได้เสื่อมอำนาจลงอย่างสิ้นเชิงในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนเหนือเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ส่งผลให้อาณาจักรเล็กๆ ของชาติพันธุ์ไตต่างๆ เข้มแข็งขึ้น ประกอบด้วยอาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรล้านนา อาณาจักรภูกามยาว (พะเยา) และอาณาจักรสุโขทัย ชาติพันธุ์ไตได้ตั้งถิ่นฐานกันอย่างถาวรขึ้นปะปนอยู่กับชนพื้นเมืองเดิมที่เป็นชาวลัวะ (ละว้า) และชาวเมง (ละโว้) หลังจากนั้นได้มีการผสมผสานของผู้คนที่คนกลุ่มหลักเป็นชาวไตยวน กับชาวลัวะและชาวเมง สืบต่อกันมาเป็นคนเมืองล้านนาในทุกวันนี้ ภายใต้การปกครองของราชวงศ์มังรายสืบเนื่องกันมา อาณาจักรล้านนามีความเจริญสูงสุดในสมัยพระเจ้าติโลกราช ซึ่งยอมรับกันว่าเป็นยุคทองของล้านนา ที่มีความเจริญทุกๆ ด้าน จนถึง สมัยท้าวแม่กุพ.ศ. ๒๑๐๑ ล้านนาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ได้รับการกอบกู้อิสรภาพและเริ่มรวมเป็นส่วนหนึ่งของสยามเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗ โดยพญากาวิละภายใต้การสนับสนุนของพระยาจักรีแห่งสยาม

พญากาวิละมีความตั้งใจพยายามฟื้นบ้านฟื้นเมืองหลังจากล้านนาเป็นเมืองขึ้นพม่า ซึ่งผ่านสงครามผู้คนล้มหายตายจากกันเป็นจำนวนมาก เมืองหลายแห่งร้างผู้คน จึงมีการกวาดต้อนและเชิญชวนชาวไตในดินแดนใกล้เคียงเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ได้แก่ชาวไตยวนจากเชียงแสน ชาวไตเขินจากเมืองเชียงตุง เมืองยอง ชาวไตลื้อจากสิบสองปันนา เป็นต้น ชาวเชียงแสนได้มาตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่ ชาวไตลื้อและไตเขิน ได้มาตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่โดยรอบในลุ่มแม่น้ำปิง ปรากฏชื่อชุมชนหมู่บ้านที่สอดคล้องกับชื่อแหล่งต้นกำเหนิดเดิม เช่น ชื่อบ้านเวียงยอง อำเถอเมือง จังหวัดลำพูน และ ชื่อบ้านต้นแหน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

อรัมภบท

หลังจากที่พัฒนาการสถาปัตยกรรมล้านนาได้ผ่านยุคมืดประมาณสองร้อยปีเมื่ออยู่ภายใต้อำนาจทางการเมืองของพม่า ความพยายามฟื้นบ้านฟื้นเมืองในสมัยพญากาวิละทำให้มีการซ่อมสร้าง ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนาเป็นอย่างมาก โชคดีที่ยังหลงเหลือหลักฐานทางโบราณคดี ศิลปสถาปัตยกรรมในยุคทองอยู่บ้าง และหลักฐานที่กำลังสูญหายไปของยุคต้นล้านนา การรวมล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยามพร้อมกันกับการรวมดินแดนภาคอีสาน อีสานใต้ และพื้นที่ส่วนปลายของภาคใต้ กอรปกับการปรับเปลี่ยนไปสู่ประเทศไทยภายใต้ระบอบเสรีประชาธิไตย ส่งผลให้มีการเปิดรับกระแสวัฒนธรรมจากภายนอกประเทศ การไหลบ่าของกระแสการพัฒนาแบบทุนนิยมเสรีจากฟากตะวันตก ส่งผลให้เกิดการค้าการลงทุนขนานใหญ่ เริ่มจากการถลุงทรัพยากรธรรมชาติ รูปแบบบริโภคนิยม ภายใต้อิทธิพลของการแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ส่วนตน การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและเศรษฐกิจที่รวดเร็ว ส่งผลให้สังคมท้องถิ่นเปลี่ยนแปลงตามอย่างรวดเร็วเช่นกัน ศิลปวัฒนธรรมทั้งหลายสูญหายเสื่อมโทรม เพราะประชาชนท้องถิ่นให้ความสำคัญต่อการดิ้นรนในการยังชีพมาเป็นอันดับแรกมากกว่า ระบบความสัมพันธ์ของชุมชนและครอบครัวจำนวนมากมีปัญหา ระบบภูมิปัญญาของการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและการรักษาองค์ความรู้ท้องถิ่นล้มเหลว และเกิดการอพยพของผู้คนและการสูญเสียอัตลักษณ์ชุมชนพื้นถิ่น ความพยายามในการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนยังอยู่ในแนวทางการนำทรัพยากรมาใช้ รวมทั้งการใช้สถานที่ธรรมชาติ โบราณสถาน และสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเป็นทุน โดยยังขาดประสิทธิภาพการจัดการเพื่อการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของชุมชน

สถาปัตยกรรมล้านนามีอุปสรรคด้านพัฒนาการ ระบบการถ่ายทอดภูมิปัญญาแบบดั้งเดิมถูกทำลาย ขณะที่นโยบายการศึกษาสมัยใหม่ไม่เห็นความสำคัญ ไม่เอาใสใจ่เร่งรัดการรวบรวมจัดเก็บองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมล้านนา รวมทั้งการวางแผนจัดกระบวนการวิจัย พัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ทายาททางสังคมท้องถิ่นรุ่นใหม่อย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางกระแสความนิยมการนำศิลปสถาปัตยกรรมล้านนามาเสพ ที่เริ่มเมื่อสี่สิบปีก่อนจนเข้มข้นเมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมา มีการนำรูปแบบศิลปและสถาปัตยกรรมเก่ามาใช้ในบริบทใหม่ การลอกเลียนรูปลักษณ์ทางกายภาพและเน้นความรู้สึกด้านการบรรยากาศ โดยขาดภูมิความรู้ ความระมัดระวัง และการพัฒนาโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ อันจะเป็นกระบวนการทำลายมากกว่ากระบวนการพัฒนา ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าความพยายามสร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมล้านนาในรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จหรือไร้ประโยชน์ เพราะภายใต้ความพยายามลองผิดลองถูกของการออกแบบก่อสร้างได้ทำให้เกิดการเรียนรู้หลายอย่าง เพียงแต่วิธีการและการพัฒนา ยังต้องอาศัยประสบการณ์และการรวบรวมองค์ความรู้ที่พัฒนาต่อช่วงและถ่ายทอด ซึ่งจะช่วยสร้างข้อสรุปและความลงตัวด้านประโยชน์ใช้สอยและสุนทรียภาพให้เกิดขึ้นภายใต้เอกลักษณ์แบบล้านนา

เชิญชวนท่านทั้งหลายมาร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาสถาปัตยกรรมล้านนาของเราให้คงอยู่สืบไป อย่างน้อยให้หลักฐานที่คงอยู่ได้สะท้อนถึงความงดงามเยี่ยมยอดในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษล้านนา ที่สร้างสรรค์ขึ้นรับใช้ผู้คนและสังคม ซึ่งก่อร่างสานต่อกันมานับแต่โบราณ ถึงแม้นว่า อาณาจักรล้านนานั้นได้หลงเหลือแต่เพียงชื่อให้กล่าวอ้าง