วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2552

พัฒนาการสถาปัตยกรรมล้านนา (ตอน ๑)

เรื่องราวทางสถาปัตยกรรมของล้านนา มีพัฒนาการเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของบริบททางประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ของชนชาติไท ซึ่งมีมานานหลายพันปี ชาวไตยวนเป็นชาติพันธุ์หลักในล้านนาที่สืบสานวัฒนธรรมสืบเนื่องกับวัฒนธรรมไทเดิมในยูนนาน เช่นเดียวกับชาวไตใหญ่ ชาวไตลื้อและไตกลุ่มกลุ่มต่างๆ ซึ่งนักวิชาการไทยและจีนบางส่วนสันนิษฐานกันตามหลักฐานทางโบราณคดีอันเก่าแก่ ด้านการตั้งที่อยู่อาศัยบนแอ่งที่ราบติดแม่น้ำแยงซีเกียง สร้างเรือนยกพื้นสูง การใช้เครื่องปั้นดินเผาก้นมนและแบบมีฐานสามเส้า และเครื่องใช้สัมฤทธิ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักฐานทางวัฒนธรรมชาวปาโบราณ ก่อนที่ราชวงศ์ฉินของจีนจะมารุกราน พงศาวดารจีนมีหลักฐานการกล่าวถึงชนชาติที่อยู่บริเวณแถบต้นลุ่มน้ำแยงซีเกียง และกล่าวถึงชาวไป๋ (ปาไป๋ซีฟู่) ซึ่งนักวิชาการส่วนใหญ่ในปัจจุบันได้ลงความเห็นว่าเป็นต้นตระกูลของคนไท เพราะรูปลักษณะสันฐาน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ รูปแบบที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ไม้สอย ยังสอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทอยู่ในปัจจุบัน หลักฐานที่เห็นได้ชัดได้แก่ กลองมโหระทึกสำริด การแต่งกายของคนและสิ่งปลูกสร้างที่ปรากฏอยู่บนเครื่องสำริด และวัฒนธรรมการกินข้าวเหนียว

หลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวกับรูปแบบการอยู่อาศัยเก่าแก่ที่สุดขุดพบอิฐโบราณ มีการแกะสลักรูปบ้านเรือนยกใต้ถุนสูง มีชานเรือน และมีหลังคาเรือนมุงด้วยหญ้าหรือใบไม้แห้ง มีการใช้วัวและม้าเทียมเกวียน อิฐโบราณนั้นมีอายุมากกว่า ๑,๕๐๐ ปี เช่นเดียวกันกับกลองมโหระทึกที่มีประติมากรรมสิ่งก่อสร้างที่อยู่อาศัยยกพื้นสูง และเรือบนกลองสำริด ตามหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีของจีนก็พบหลักฐานการขุดฝังเสาเรือนลงไปในดินของกลุ่มชาวปา ชาวไป๋ ทุกวันนี้ชาติพันธุ์ที่มีเชื้อสายเกี่ยวโยงกับชาวปา ชาวไป๋โบราณ ได้มีจำนวนมากในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำแยงซีเกียง ไล่ลงมาทางทิศใต้ของยูนนาน เชื่อมต่อไปยังกวางสีและกวางตุ้ง ซึ่งมีชนเผ่าทางตอนใต้ประเทศจีนที่มีวัฒนธรรมไทจำนวนมาก เช่น เผ่าจ้วง และแน่นอนที่เห็นได้ชัดคือทางตอนเหนือของเวียตนาม ลาว ไทย พม่า และอินเดีย เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของคนไทอย่างปฏิเสธไม่ได้

เรือนอยู่อาศัยเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดในการดำรงชีพ พบว่าเรือนชาวไทเผ่าต่างๆ สร้างด้วยระบบเสาคานไม้เนื้อแข็ง หรือไม้ไผ่ ยกพื้นสูง มีชานแดด ชานร่ม ห้องในเรือนเป็นห้องนอนเป็นหลัก ซึ่งแต่โบราณสมาชิกในครอบครัวใช้ที่ว่างในห้องนอนร่วมกัน อาจมีการกั้นด้วยผ้าเกิ้ง (ม่าน) ไม่มีการทำห้องนอนหลายห้อง โครงสร้างเรือนส่วนใหญ่เป็นไม้ไผ่ ไม่ว่าจะเป็น เสา คาน ตง ผนัง นิยมใช้หญ้าคามุ่งหลังคาเรือน ใต้ถุนเรือนใช้เก็บเครื่องใช้กสิกรรม เลี้ยงไก่เลี้ยงหมูบ้าง นิยมนั่งพักผ่อนหรือทำงานบนชานหรือชานร่ม (เติ๋น)

1 ความคิดเห็น:

  1. ดีครับอาจ๋าน จ้วยกั๋นสร้างแหล่งเรียนรู้
    ก้าหาปะบล๊อกนี้โดยบังเอิญ จะ"ติดตาม"ครับ

    ตอบลบ