วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ชาติพันธุ์ดั้งเดิมก่อนตั้งอาณาจักรล้านนา

ดินแดนแหลมทองของประเทศไทยแต่โบราณมีชนเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่ในพื้นที่หลากหลายและกระจัดกระจาย ในจำนวนประชากรที่น้อย ชนเผ่ามากมายยังหลงเหลือหลักฐานทางชาติพันธุ์ที่ตั้งหลักแหล่งอยู่บ้าง พบได้มากในพื้นที่ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในสหภาพพม่า ในเขตสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เชื่อมต่อกับพื้นที่เอเชียอาคเนย์ ส่วนในประเทศไทย มีชาวละว้า มอญ และขอม เป็นชาติพันธุ์หลักที่เป็นที่ยอมรับกันทางด้านวิชาการ สันนิษฐานว่าในอดีตนั้นชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในเขตประเทศไทยคงมีอยู่เป็นจำนวนมากกว่าสามชาติพันธุ์ที่กล่าว ที่มีการกล่าวถึงกันบ้าง ได้แก่ ชาวขมุ ชาวถิ่น ชาวบลารี (ผีตองเหลือง) ชาวกุย ฯลฯ โดยที่ยังไม่มีชนเผ่าชาติพันธุ์อพยพสายธิเบต (เช่น กะเหรี่ยง ปากะญอ) และสายจีน (เช่น ม้ง เย้า) ที่มีประวัติศาสตร์การเคลื่อยย้ายกันเข้ามาในประเทศไทยไม่เกินช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนทางตอนใต้ของประเทศไทยในอดีตมีการอพยพของชาวเกาะ จากสุมาตราและอินเดียกันมาเรื่อยๆ หลายสมัยมานานนับหลายพันปีแล้ว ชาติพันธุ์ทางตอนใต้ได้แก่ มนุษย์ชวา ซาไก มอแกน เป็นต้น

ประชากรชนเผ่าที่มีจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ที่เมืองที่เป็นราชธานีของแคว้นหรืออาณาจักร ซึ่งได้รับการยอมรับโดยหลักฐานที่พิสูจน์กันแล้วว่าเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรมในยุคต้นคือเมืองละโว้ (ลพบุรี) เป็นราชธานีของชาวละว้า เมื่อประมาณ ๒,๒๕๐ ปีที่แล้ว ชนชาติละว้าเป็นชาติที่ใหญ่และเจริญที่สุดในสุวรรณภูมิ ชื่อเมืองนี้ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า มาจากคำว่า ลัวะ หรือ ละว้า ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยเป็นเจ้าของดินแดน ในบริเวณลุ่มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยามาก่อน แต่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า น่าจะมาจากชื่อเมืองลวปุระ ที่อยู่ในอินเดียและอาจผันมาเป็นลพบุรี ซึ่งหมายความว่า เป็นเมืองของพระลวะหรือพระลพ ผู้เป็นโอรสของพระราม ที่เมืองละโว้มีหลักฐานทางโบราณคดีในการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์เกินกว่า ๔,๕๐๐ ปี เกิดพัฒนาการของชุมชนหมู่บ้าน เจริญขึ้นเป็นเมืองและแคว้น

ภายหลังเมื่ออาณาจักรทวาราวดีถูกตั้งขึ้นและเรืองอำนาจ ซึ่งบันทึกของพระถังซำจั๋งในศตวรรษที่ ๑๒ กล่าวถึงชื่อทวาราวดีว่า โถโล โปลี เป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองทางการค้ามาก เป็นเมืองท่า เจริญด้านการศึกษา และเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทในสุวรรณภูมิ ทิศตะวันตกติดต่อกับอาณาจักรศรีเกษตร (พุกาม หรือพม่าในปัจจุบัน) ทิศตะวันออกติดกับอีสานปุระ (ขอม) อาณาจักรทวาราวดีมีเมืองนครปฐมเป็นศูนย์กลางของอาณาจักร ได้ขยายขอบเขตทางการเมืองขึ้นไปทางเหนือ ละโว้ถูกตั้งให้เป็นเมืองสำคัญอย่างต่อเนื่อง ระบบการปกครองในอาณาจักรละโว้และเมื่อภายหลังเป็นส่วนหนึ่งของทวาราวดีมีแบบแผนพัฒนาการเป็นของตนเอง ขอบเขตพื้นที่ประกอบด้วยอาณาจักรย่อยๆ แยกปกครองกันอยู่ ๓ ส่วน คือ อาณาจักรทวาราวดี บริเวณภาคกลางของประเทศไทยปัจจุบัน คลุมพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดพิษณุโลก จรดจังหวัดราชบุรีทางตอนใต้ และจรดปราจีนบุรีทางภาคตะวันออก ส่วนที่สองเป็นอาณาจักรละว้าทางภาคเหนือในเขตลุ่มแม่น้ำกก แม่น้ำโขง แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง และแม่น้ำน่าน อาณาจักรโคตรบรู เป็นส่วนที่สาม อาณาจักรส่วนทางเหนือและทางอีสานถูกปกครองด้วยอำนาจทางการเมืองอย่างไม่เข้มงวดนัก อาณาจักรทวาราวดีมีเมืองสำคัญ ๓ เมืองด้วยกันคือ เมืองนครปฐม เป็นราชธานี เมืองละโว้ เมืองลูกหลวง และเมืองเสียมหรือสยาม (ภายหลังคือเมืองสุโขทัย)

เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๔๐๐ เป็นต้นมา ขอมแผ่อำนาจมาในอาณาจักรทวาราวดีและส่งคนมาครอบครองเช่นเมืองขึ้นธรรมดา มีการแบ่งการปกครองออกเป็น 2 มณฑล คือ มณฑลฝ่ายใต้ และมณฑลฝ่ายเหนือ มณฑลฝ่ายใต้มีเมืองละโว้ที่ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นลพบุรีให้เป็นศูนย์กลาง ฝ่ายเหนือมีเมืองสยามเป็นศูนย์กลาง การขยายอำนาจของขอมทำให้ชาวละว้า ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้การปกครอง ชาวละว้าส่วนใหญ่รักความเป็นอิสระไม่สมัครใจจะอยู่ในสภาพเช่นนี้ จึงมีการอพยพขึ้นไปทางเหนือเพื่อไปแสวงหาดินแดนตั้งถิ่นฐานกันใหม่ บริเวณภาคเหนือของประเทศไทยในอดีตเกินกว่าสองพันปีเป็นพื้นที่ว่างเปล่าทางการเมือง ชาติพันธุ์ละว้า (ลัวะ) อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนตอนเหนือ กระจายตัวและตั้งรกรากตามพื้นที่เมืองสำคัญต่างๆ โดยพิจารณาจากหลักฐานการตั้งถิ่นฐานทางชาติพันธุ์ที่หลงเหลือ ได้แก่ บางพื้นที่ที่ปัจจุบันนี้เป็นพื้นที่ของเมืองสุพรรณบุรี กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย เชียงตุง เชียงรุ่ง พยาก เมืองลา ฯลฯ

การล่มสลายของอาณาจักรทวารวดีภายใต้อำนาจทางการเมืองของขอมในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ ส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายทางการเมืองของชาวละโว้ครั้งใหญ่ โดยการนำของพระนางจามเทวี ที่นำไพร่พลและผู้มีวิชาความรู้จำนวนมากเดินทางไปตั้งถิ่นฐานและปกครองเมืองหริภุญชัย ที่สร้างขึ้นในพุทธศักราช ๑๒๐๓ โดยพระฤๅษีวาสุเทพได้ร่วมกับพระสหายสร้างเมืองหริภุญชัย คล้ายรูปเปลือกหอย เมื่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระฤๅษีวาสุเทพจึงได้ให้นายคะวะยะนำสาส์นมายังพระเจ้ากรุงละโว้ เพื่อขอพระนางจามเทวีไปปกครองเมืองหริภุญชัย พระนางจามเทวีได้เสด็จจากเมืองละโว้ ปีพุทธศักราช ๑๒๐๕ เป็นเวลานาน ๗ เดือนมาถึงเมืองหริภุญชัย ปีพุทธศักราช ๑๒๐๖ พระฤๅษีและชาวเมืองหริภุญชัยได้ทำพิธีอัญเชิญพระนางจามเทวีขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์แรก มีพระมหากษัตริย์สืบราชวงศ์มาถึงสมัยพระยายีบา รวมทั้งสิ้นจำนวน ๔๙ พระองค์ พระยายีบาเป็นองค์สุดท้าย รวมราชวงศ์พระนางจามเทวีครองเมืองลำพูนได้นาน ๖๑๘ ปี สิ้นสุดราชวงศ์ ปีพุทธศักราช ๑๘๒๔

พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ชาติพันธุ์ไต (ไตยวน) ได้เคลื่อนย้ายลงมาจากพื้นที่ที่เป็นส่วนใต้ของมณฑลยูนนานครั้งใหญ่ มีการขับไล่พวกกรอม (ขอม) ออกจากพื้นที่แถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ดังตำนานและพงศาวดารล้านนาหลายฉบับกล่าวถึง การยึดเมืองสุวรรณโคมคำอุโมงคเสลา ที่ตั้งอยู่ตรงบริเวณสามเหลี่ยมทองคำในปัจจุบัน เป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวไตยวนที่ชัดเจน ในตำนานและพงศาวดารล้านนาต่างๆ ยังได้กล่าวถึงชนพื้นถิ่นเจ้าของพื้นที่เดิมที่ชาวล้านนาเรียกว่า "ลัวะ" ที่มีแว่นแคว้นในบริเวณนี้หลายเมือง ชาวไตยวนและชาวลัวะได้เชื่อมสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี โดยอาศัยการสร้างความเข้าใจและอยู่ร่วมกันได้ โดยมีการตั้งอาณาจักรเล็กๆ ชื่อว่า "หิรัฐนครเงินยาง" ภายใต้ผู้นำคนแรกชื่อว่า "ลวะจังกรราช" นับจากนั้นอาณาจักรเล็กๆ นี้ก็ได้เติบโตและขยายขอบเขตออกไปโดยรอบ และมีการสร้างเมืองจำนวนมาก ภายใต้ชื่ออาณาจักรใหม่ว่า "โยนกนาคนคร" (โยนกชัยบุรีสรีช้างแส่น) โดยมีเมืองหิรัญนครเงินยางยังเป็นราชธานี มีกษัตริย์ปกครองกันมาถึง ๒๖ องค์ ภายใต้ชื่อ ราชวงศ์ "ลาว"

พระเจ้าพรหมมหาราช หรือ พระเจ้าพรหมกุมาร (มหาราชองค์แรกของไทย) เป็นราชบุตรของพระเจ้าพังคราช ได้ต่อสู้ขับไล่พวกขอมออกไปจากดินแดน หลังจากที่ขอมพยายามโจมตีแย่งดินแดนคืนราวปี พ.ศ. ๑๔๘๐ ถึง พ.ศ. ๑๕๔๑ พระองค์ยกเมืองให้พระราชบิดาปกครองส่วนพระองค์ได้สร้างเมืองไชยปราการ (อำเภอฝาง) ขึ้นใหม่ พระเจ้ามังรายมหาราช หรือ พญามังรายเจ้า (มหาราชของไทยอีกพระองค์) กษัตริย์องค์ที่ ๒๖ ขึ้นครองราชต่อจากพระราชบิดา เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๔ ทรงเป็นเพื่อนร่วมสาบานกับพ่อขุนรามคำแหงแห่งอาณาจักรสุโขทัย และพญางำเมืองแห่งอาณาจักรพะยาว พญามังรายได้รวบรวมเมืองของชาติพันธุ์ไตน้อยใหญ่ที่อยู่ข้างเคียง รวมเข้าเป็นปึกแผ่นให้แน่นหนาขึ้นเพื่อเตรียมต้านทานการบุกรุกโจมตีของราชวงศ์มองโกลทางตอนเหนือ และตั้งเมืองกุมกาม ก่อนสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนา

พุทธศตวรรษที่ ๑๙ นับได้ว่าขอมได้เสื่อมอำนาจลงอย่างสิ้นเชิงในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนเหนือเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ส่งผลให้อาณาจักรเล็กๆ ของชาติพันธุ์ไตต่างๆ เข้มแข็งขึ้น ประกอบด้วยอาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรล้านนา อาณาจักรภูกามยาว (พะเยา) และอาณาจักรสุโขทัย ชาติพันธุ์ไตได้ตั้งถิ่นฐานกันอย่างถาวรขึ้นปะปนอยู่กับชนพื้นเมืองเดิมที่เป็นชาวลัวะ (ละว้า) และชาวเมง (ละโว้) หลังจากนั้นได้มีการผสมผสานของผู้คนที่คนกลุ่มหลักเป็นชาวไตยวน กับชาวลัวะและชาวเมง สืบต่อกันมาเป็นคนเมืองล้านนาในทุกวันนี้ ภายใต้การปกครองของราชวงศ์มังรายสืบเนื่องกันมา อาณาจักรล้านนามีความเจริญสูงสุดในสมัยพระเจ้าติโลกราช ซึ่งยอมรับกันว่าเป็นยุคทองของล้านนา ที่มีความเจริญทุกๆ ด้าน จนถึง สมัยท้าวแม่กุพ.ศ. ๒๑๐๑ ล้านนาได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า ได้รับการกอบกู้อิสรภาพและเริ่มรวมเป็นส่วนหนึ่งของสยามเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๗ โดยพญากาวิละภายใต้การสนับสนุนของพระยาจักรีแห่งสยาม

พญากาวิละมีความตั้งใจพยายามฟื้นบ้านฟื้นเมืองหลังจากล้านนาเป็นเมืองขึ้นพม่า ซึ่งผ่านสงครามผู้คนล้มหายตายจากกันเป็นจำนวนมาก เมืองหลายแห่งร้างผู้คน จึงมีการกวาดต้อนและเชิญชวนชาวไตในดินแดนใกล้เคียงเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ได้แก่ชาวไตยวนจากเชียงแสน ชาวไตเขินจากเมืองเชียงตุง เมืองยอง ชาวไตลื้อจากสิบสองปันนา เป็นต้น ชาวเชียงแสนได้มาตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่ ชาวไตลื้อและไตเขิน ได้มาตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่โดยรอบในลุ่มแม่น้ำปิง ปรากฏชื่อชุมชนหมู่บ้านที่สอดคล้องกับชื่อแหล่งต้นกำเหนิดเดิม เช่น ชื่อบ้านเวียงยอง อำเถอเมือง จังหวัดลำพูน และ ชื่อบ้านต้นแหน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น