วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ตูบ

เรือนเครื่องผูกภาคเหนือ ภาษาพื้นเมืองเรียกว่า "ตูบ" หมายถึง เรือนที่สร้างขึ้นด้วยไม้บั่ว (ไม้ไผ่) เป็นหลัก ใช้ไม้ไผ่หลายชนิด เช่น ไม้ซาง ไม้ฮวก (รวก) ไม้ตง โครงสร้างเสาเป็นลำไม้ไผ่ หรือไม้เนื้อแข็ง พื้นเป็นไม้ฟากหรือลำไม้ไผ่ทุบเป็นฟาก ฝาทำด้วยไม้ไผ่ขัดแตะ เป็นลายสอง ลายสาม หรือใช้แผงไม้ซางสานเป็นลายต่างๆ เช่น ลายอำ บ้างก็ใช้ฟากทำเป็นผนังก็มี หลังคาสร้างด้วยโครงไม้ไผ่ โดยการยึดโครงสร้างต่างๆ ใช้วิธีเจาะรูและฝังเดือย ประกอบกับการผูกด้วยดอกหรือหวาย หลังคามุงด้วยหญ้าคาหรือใบตองตึง บางแห่งอาจพบว่าใช้ใบคล้อมุง ในตูบมีห้องนอนเดียว โบราณมีการใช้เตาไฟในห้องนอน แต่หลักฐานที่พบในปัจจุบันไม่เกิน ๘๐ ปีที่ผ่านมา มีชานด้านข้างห้องนอนเชื่อมไปยังบริเวณครัวไฟด้านหลังเรือน ไม่ปรากฏมีการทำเตาไฟในห้องนอน สมาชิกของครอบครัวบางครอบครัวอาศัยนอนในห้องนอนเดียวกัน ซึ่งได้แก่พ่อ (เจ้าบ้าน) แม ลูกสาว อุ๊ย (ปู่ บ่า ตา หรือ ยาย) ลูกชายถ้าเริ่มเป็นวัยรุ่น นิยมย้ายไปนอนหน้าห้องนอนที่เป็นพื้นที่ที่เรียกว่า "เติ๋น" เพื่อความเป็นส่วนตัว ตูบไม่มีห้องส้วมหรือห้องน้ำในเรือน คนล้านนาโบราณใช้ชายทุ่งชายป่าเป็นแหล่งขุดหลุมส้วม ภายหลังประมาณ ๖๐ ปีที่ผ่านมามีการสร้างตูบส้วม จนพัฒนามาเป็นตูบส้วมซึม เรือนตูบบางหลังสร้างเรือนครัวแยกออกมาใกล้ๆ ตูบ ด้วยโครงสร้างลักษณะเดียวกันกับตูบแต่เล็กและซับซ้อนน้อยกว่าปัจจุบันไม่ค่อยพบเห็นตูบ คนรุ่นใหม่มองว่าเป็นที่อยู่อาศัยของคนยากจน ส่วนมากที่พอหลงเหลือให้เห็นเป็นการสร้างเถียงนา (ห้างนา) สำหรับไว้เฝ้านา หรือสร้างเป็นร้านค้าบางอย่าง เช่น ร้านเหล้าตอง ร้านขายอาหารพื้นเมือง ร้านขายผักไม้ต่างๆ ตามซอกซอยในหมู่บ้านหรือในกาดก้อม (ตลาดเล็กๆ) กาดงัว (ตลาดนัด) เป็นต้น โบราณนิยมสร้างเป็นเรือนหอชั่วคราวสำหรับการสร้างครอบครัวใหม่ของหนุ่มสาวเวลาออกเรือน ซึ่งสร้างอยู่ในบริเวณบ้านของผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาว เพื่อการติดตามดูพฤติกรรมการครองเรือนที่เหมาะสมของลูกเขยกับลูกสาว ภายหลังเมื่อมีความพร้อมจึงสร้างเรือนหลังใหม่ที่ถาวรขึ้นแทน ตูบนับว่าเป็นเรือนพักอาศัยพื้นฐานของประชาชนทั่วไปนับแต่โบราณกาลก่อนสมัยล้านนา เรือนไม้สักชั้นดีจะถูกจัดให้เป็นที่พักอาศัยของพญา มหากษัตริย์ และเจ้าขุนมูลนายต่างๆ ชาวพื้นบ้านล้านนาเริ่มแพร่ขยายความนิยมสร้างบ้านด้วยไม้เนื้อแข็งโดยเฉพาะไม้สักก็เมื่อสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ผ่านมา ที่มีชาวอังกฤษและพม่าที่เป็นพ่อค้าไม้ มาสัมปทานไม้ส่งออกไปต่างประเทศ และสร้างบ้านเรือนตนเองด้วยไม้สักและไม้เนื้อแข็งชนิดอื่นๆ ขึ้นมากมาย เศรษฐกิจและสังคมที่เริ่มเปลี่ยนแปลง ทำให้คติการใช้ไม้สักและไม้เนื้อแข็งสร้างบ้านของไพร่ไททั้งหลายจึงเปลี่ยนแปลงไป ความเชื่อที่ว่าไม่เหมาะสมและไม่เป็นมงคลจึงได้สูญหายไป ถือเป็นสิทธิของผู้มีกำลังเงินซื้อวัสดุไม้มาปลูกบ้านดังเช่น พ่อค้าและชาวต่างชาติที่เข้ามาในล้านนาทั้งหลาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น