วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เติ๋น
เติ๋นเป็นพื้นที่ใช้งานบนเรือนล้านนา เป็นพื้นที่เชื่อมต่อที่ว่างระหว่างชานแดดนอกเรือนกับห้องนอนในเรือน เป็นพื้นที่ที่ผู้อยู่อาศัยจัดไว้เป็นส่วนอเนกประสงค์เพื่อการทำงาน การพักผ่อน การรับแขก รวมทั้งไว้ใช้เป็นที่นอนรับรองแขกหรือลูกชายเจ้าของเรือนเมื่อไปเที่ยวกลับมายามดึก (ดูตำแหน่งหมายเลข 2 ในผังเรือนประกอบ) ปกติเรือนล้านนาโบราณหันชานแดดไปทางทิศใต้ เพื่อรับแดดในฤดูหนาว เติ๋นมีฝาผนังด้านข้างทางทิศตะวันออกและตะวันตก ฝาผนังข้างเติ๋นนี้เรียกว่า “ฝาลับนาง” มีประโยชน์ในการบังแสงแดด กันลมหนาว และช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวเวลาทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกั้นความเป็นส่วนตัวให้ลูกสาวของเจ้าของเรือนนั่งปั่นฝ้ายหรือทำหัตถกรรมต่างๆ หรือเวลาที่มีคนนอนหลับ ด้านตะวันออกของเติ๋นมีหิ้งพระ หันหน้าพระพุทธรูปไปทางตะวันตก ผนังเรือนทางด้านตะวันออกจะเป็นทิศหัวนอนของสมาชิกทุกคนในเรือน หิ้งพระเป็นส่วนที่นิยมทำขึ้นในสมัยหลังภายในระยะเวลาประมาณ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา แต่ก่อนนั้นถือว่าการนำเอาพระที่เป็นของสูงเข้าบ้านนั้นไม่เป็นมงคล แต่ความเชื่อนั้นได้เสื่อมคลายไป พื้นเติ๋นมีโครงสร้างที่ถูกยกขึ้นจากชานแดดหนึ่งขั้นเสมอ ความเป็นอยู่ของชาวล้านนาแบบวัฒนธรรมนั่งพื้นที่ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ ช่วยทำให้การยกระดับของเติ๋นมีประโยชน์ในการใช้นั่งเล่นได้คล้ายนั่งเก้าอี้ ขอบที่เปลี่ยนระดับชานกับเติ๋นเรียกว่า “ข่มเติ๋น” ขณะที่กรอบล่างประตูห้องนอนที่ต่อเนื่องกับพื้นที่เติ๋นเป็นธรณีประตูที่ชาวล้านนาเรียกว่า “ข่มตู๋” ขอยกตัวอย่างการสนทนาระหว่างแม่เรือนกับพ่อเรือนที่เติ๋นประโยคหนึ่งว่า

“ป้อมัน ขดไปนั่งตี๊ข่มเติ๋นปุ้นป๊ะ ข้าจะเจ๊ดเฮือนกำ” หมายความว่า
“นี่พ่อ ขยับไปนั่งที่ขอบชานร่มทางโน้นไป ชั้นจะขอเช็ดพื้นเรือนสักหน่อย”

ที่มา: เชาวลิต สัยเจริญ. บทความร่างเพื่อให้ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำไปลงวารสารมติชนรายสัปดาห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น