วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

ปื๊นกะล่าง คำว่า “ปื๊น” ในภาษาล้านนาหมายถึง “ใต้” ส่วน คำว่า “กะล่าง” หมายถึง “ข้างล่าง” หรือ “ใต้ถุน” รวมความแล้วหมายถึงพื้นใต้ถุน ซึ่งมักใช้เรียกใต้ถุนเรือน ตัวอย่างการใช้คำเช่น “ บ่าหน้อย คิงไปเอาพร้าข้างเสากลางตี๊ปื๊นกะล่างมาฮื้ออุ๊ยกำลอ” หมายถึง “ไอ้หนู เองไปหยิบพร้าข้างเสากลางที่ใต้ถุนมาให้ปู่หน่อยสิ” ใต้ถุนเรือนล้านนาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในเอกลักษณ์ของเรือน ภูมิปัญญาของคนโบราณ สร้างเรือนให้ยกพื้นสูงเพื่อการป้องกันสัตว์ร้าย ศัตรู โดยเฉพาะยามค่ำคืนเวลาหลับนอน พักผ่อน เช่น ตะขาบ งูพิษ เสือ หมี และ โจร ขโมย เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีประโยชน์สำคัญต่อสุขอนามัยในการดำรงชีพในเรือน พื้นเรือนที่ยกสูงและมีช่องระบายอากาศที่พื้น ช่วยเกิดการถ่ายเทอากาศที่ดี ไม่อับชื้น การทำความสะอาดพื้นเช่นการกวาดจะทำให้ฝุ่นผงต่างๆ สามารถร่วงลงสู่พื้นดินใต้ถุนเรือนอย่างง่าย ทำให้การทำความสะอาดพื้นเรือนเป็นไปได้โดยง่าย เช่น ส่วนชาน เติ๋น ครัว ยกเว้นส่วนพื้นห้องนอน นิยมปูพื้นชิด เพราะต้องการกันลมหนาวพัดลอดใต้ถุนขึ้นมาในห้อง ใต้ถุนเรือนยังมีประโยชน์ในการที่เป็นพื้นที่เก็บเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น เกวียน คันไถ คราด เครื่องมือจับปลา ฟืน และยังใช้เป็นที่ผูกสัตว์ เลี้ยวสัตว์ เช่น หมา หมู ไก่ เป็นต้น ช่วงเวลากลางวันยามอากาศร้อน มักนิยมนั่งเล่น เลี้ยงลูก หรือทำงานหัตถกรรมต่างๆ บนแคร่ใต้ถุนเรือน หากอากาศร้อนแดดจัดมาก ชาวล้านนาจะมีวิธีการลดอุณหภูมิพื้นที่รอบเรือนและบนเรือนโดยการสาดน้ำบนข่วงลานดินหน้าเรือนให้ชุ่ม ไอร้อนของน้ำที่ชุ่มดินลอยตัวสูงขึ้น ดึงมวลอากาศจากใต้ถุน และจากใต้ร่มไม้ด้านข้างและด้านหลังเรือนพัดผ่าน ทำให้เกิดการไหลเวียนและมีอุณหภูมิที่ลดลง เกิดภาวะน่าสบายเกิดความชื่นเย็นในการอยู่อาศัย
ที่มา: เชาวลิต สัยเจริญ. บทความร่างเพื่อให้ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำไปลงวารสารมติชนรายสัปดาห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น