วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

เติ๋น
เติ๋นเป็นพื้นที่ใช้งานบนเรือนล้านนา เป็นพื้นที่เชื่อมต่อที่ว่างระหว่างชานแดดนอกเรือนกับห้องนอนในเรือน เป็นพื้นที่ที่ผู้อยู่อาศัยจัดไว้เป็นส่วนอเนกประสงค์เพื่อการทำงาน การพักผ่อน การรับแขก รวมทั้งไว้ใช้เป็นที่นอนรับรองแขกหรือลูกชายเจ้าของเรือนเมื่อไปเที่ยวกลับมายามดึก (ดูตำแหน่งหมายเลข 2 ในผังเรือนประกอบ) ปกติเรือนล้านนาโบราณหันชานแดดไปทางทิศใต้ เพื่อรับแดดในฤดูหนาว เติ๋นมีฝาผนังด้านข้างทางทิศตะวันออกและตะวันตก ฝาผนังข้างเติ๋นนี้เรียกว่า “ฝาลับนาง” มีประโยชน์ในการบังแสงแดด กันลมหนาว และช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวเวลาทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกั้นความเป็นส่วนตัวให้ลูกสาวของเจ้าของเรือนนั่งปั่นฝ้ายหรือทำหัตถกรรมต่างๆ หรือเวลาที่มีคนนอนหลับ ด้านตะวันออกของเติ๋นมีหิ้งพระ หันหน้าพระพุทธรูปไปทางตะวันตก ผนังเรือนทางด้านตะวันออกจะเป็นทิศหัวนอนของสมาชิกทุกคนในเรือน หิ้งพระเป็นส่วนที่นิยมทำขึ้นในสมัยหลังภายในระยะเวลาประมาณ ๑๐๐ ปีที่ผ่านมา แต่ก่อนนั้นถือว่าการนำเอาพระที่เป็นของสูงเข้าบ้านนั้นไม่เป็นมงคล แต่ความเชื่อนั้นได้เสื่อมคลายไป พื้นเติ๋นมีโครงสร้างที่ถูกยกขึ้นจากชานแดดหนึ่งขั้นเสมอ ความเป็นอยู่ของชาวล้านนาแบบวัฒนธรรมนั่งพื้นที่ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ ช่วยทำให้การยกระดับของเติ๋นมีประโยชน์ในการใช้นั่งเล่นได้คล้ายนั่งเก้าอี้ ขอบที่เปลี่ยนระดับชานกับเติ๋นเรียกว่า “ข่มเติ๋น” ขณะที่กรอบล่างประตูห้องนอนที่ต่อเนื่องกับพื้นที่เติ๋นเป็นธรณีประตูที่ชาวล้านนาเรียกว่า “ข่มตู๋” ขอยกตัวอย่างการสนทนาระหว่างแม่เรือนกับพ่อเรือนที่เติ๋นประโยคหนึ่งว่า

“ป้อมัน ขดไปนั่งตี๊ข่มเติ๋นปุ้นป๊ะ ข้าจะเจ๊ดเฮือนกำ” หมายความว่า
“นี่พ่อ ขยับไปนั่งที่ขอบชานร่มทางโน้นไป ชั้นจะขอเช็ดพื้นเรือนสักหน่อย”

ที่มา: เชาวลิต สัยเจริญ. บทความร่างเพื่อให้ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำไปลงวารสารมติชนรายสัปดาห์

วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

ปื๊นกะล่าง คำว่า “ปื๊น” ในภาษาล้านนาหมายถึง “ใต้” ส่วน คำว่า “กะล่าง” หมายถึง “ข้างล่าง” หรือ “ใต้ถุน” รวมความแล้วหมายถึงพื้นใต้ถุน ซึ่งมักใช้เรียกใต้ถุนเรือน ตัวอย่างการใช้คำเช่น “ บ่าหน้อย คิงไปเอาพร้าข้างเสากลางตี๊ปื๊นกะล่างมาฮื้ออุ๊ยกำลอ” หมายถึง “ไอ้หนู เองไปหยิบพร้าข้างเสากลางที่ใต้ถุนมาให้ปู่หน่อยสิ” ใต้ถุนเรือนล้านนาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในเอกลักษณ์ของเรือน ภูมิปัญญาของคนโบราณ สร้างเรือนให้ยกพื้นสูงเพื่อการป้องกันสัตว์ร้าย ศัตรู โดยเฉพาะยามค่ำคืนเวลาหลับนอน พักผ่อน เช่น ตะขาบ งูพิษ เสือ หมี และ โจร ขโมย เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีประโยชน์สำคัญต่อสุขอนามัยในการดำรงชีพในเรือน พื้นเรือนที่ยกสูงและมีช่องระบายอากาศที่พื้น ช่วยเกิดการถ่ายเทอากาศที่ดี ไม่อับชื้น การทำความสะอาดพื้นเช่นการกวาดจะทำให้ฝุ่นผงต่างๆ สามารถร่วงลงสู่พื้นดินใต้ถุนเรือนอย่างง่าย ทำให้การทำความสะอาดพื้นเรือนเป็นไปได้โดยง่าย เช่น ส่วนชาน เติ๋น ครัว ยกเว้นส่วนพื้นห้องนอน นิยมปูพื้นชิด เพราะต้องการกันลมหนาวพัดลอดใต้ถุนขึ้นมาในห้อง ใต้ถุนเรือนยังมีประโยชน์ในการที่เป็นพื้นที่เก็บเครื่องใช้ไม้สอยในชีวิตประจำวัน เช่น เกวียน คันไถ คราด เครื่องมือจับปลา ฟืน และยังใช้เป็นที่ผูกสัตว์ เลี้ยวสัตว์ เช่น หมา หมู ไก่ เป็นต้น ช่วงเวลากลางวันยามอากาศร้อน มักนิยมนั่งเล่น เลี้ยงลูก หรือทำงานหัตถกรรมต่างๆ บนแคร่ใต้ถุนเรือน หากอากาศร้อนแดดจัดมาก ชาวล้านนาจะมีวิธีการลดอุณหภูมิพื้นที่รอบเรือนและบนเรือนโดยการสาดน้ำบนข่วงลานดินหน้าเรือนให้ชุ่ม ไอร้อนของน้ำที่ชุ่มดินลอยตัวสูงขึ้น ดึงมวลอากาศจากใต้ถุน และจากใต้ร่มไม้ด้านข้างและด้านหลังเรือนพัดผ่าน ทำให้เกิดการไหลเวียนและมีอุณหภูมิที่ลดลง เกิดภาวะน่าสบายเกิดความชื่นเย็นในการอยู่อาศัย
ที่มา: เชาวลิต สัยเจริญ. บทความร่างเพื่อให้ชมรมฮักตั๋วเมือง สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำไปลงวารสารมติชนรายสัปดาห์

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2554

แป้นน้ำย้อย

"แป้น" เป็นภาษาล้านนา หมายถึง วัสดุที่มีลักษณะเป็นแผ่น ส่วนคำว่า "น้ำย้อย" เป็นคำที่แสดงให้เห็นอาการไหลหยดลงของน้ำ รวมความแล้วหมายถึง ชิ้นส่วนโครงสร้างปลายผืนหลังคาที่เป็นแผ่นเชิงชาย ใช้ปิดแนวไม้จันทันหรือกลอน และช่วยกันน้ำที่ไหลจากผืนหลังคาลงมาที่ขอบชายไม่ให้ไหลย้อนเข้าใต้ผืนหลังคา ซึ่งจะทำให้น้ำกระเด็นเข้าสู่พื้นที่พักอาศัยใต้ชายคา แป้นน้ำย้อยจะช่วยดักให้น้ำที่ไหลตามผืนหลังคาลงมาหยดลงตามแนวโน้มถ่วงของโลกในแนวดิ่ง

สมัยโบราณแป้นน้ำย้อยไม่มีการฉลุลาย ตั้งแต่ประมาณปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ลงมา จากการที่อิทธิพลศิลปสถาปัตยกรรมแบบวิคตอเรียล ที่มากับชาวอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม การค้าไม้และของป่า ประกอบกับความนิยมสถาปัตยกรรมใหม่ๆ แบบตะวันตก ที่ในหลวงรัชกาลที่ ๕ ได้นำเข้ามา ทำให้เกิดความนิยมในการฉลุลายและตกแต่งโครงสร้างอาคารและส่วนประกอบต่างๆ ส่งอิทธิพลต่อรสนิยมแบบร่วมสมัยในยุคนั้น ที่ผสมผสานนำเอาการตกแต่งดังกล่าวไปใช้ สถาปัตยกรรมล้านนาที่ถูกนำไปประยุกต์ใช้เริ่มจาก ตำหนักหรือคุ้มเจ้าผู้ครองนครและราชวงศ์ กุฏิสงฆ์ อาคารทางศาสนาบางประเภท ได้แก่ หอไตร หอเด็ง (หอระฆัง) หอพระ วิหาร เป็นต้น นอกจากนั้นรสนิยมดังกล่าวได้กระจายไปสู่การสร้างร้านค้าและเรือนของพ่อค้าวานิช และสู่ชาวบ้านโดยทั่วไป พื้นที่ทางตอนใต้เมืองเชียงใหม่ลงไปบนที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง เป็นที่ตั้งถิ่นฐานของคนเมืองจำนวนมาก มีบ้านเรือนที่สร้างแล้วนำรูปแบบของเรือนขนมปังขิงไปประยุกต์ใช้ ที่เรียกว่า "เฮือนสละไน" ตัวอย่างที่โดดเด่นได้แก่เรือนในแถบอำเภอจอมทอง สันป่าตอง แม่แจ่ม ป่าซาง (ลำพูน) เป็นต้น






ที่มาของรูปตัวอย่างแป้นน้ำย้อย: lannawoodsmith.com

วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ควั่น

ควั่น
ควั่น (ควั่นฯ) คือ โครงแผงไม้สำหรับเก็บของระดับเหนือศรีษะ ทำด้วยระแนงไม้ไผ่หรือไม้สัก สานหรือประกอบขัดกันเป็นช่องตารางห่างเป็นช่วง เท่าๆ กัน พอที่จะนำเอาน้ำต้น (คนโท) ไปคว่ำเสียบเก็บไว้ หรืออาจเก็บของใช้ในชีวิตประจำวันที่จำเป็นอื่นๆ เช่น ขัน โอ (ขันขนาดใหญ่ บางขันอาจมีฝาปิดด้วย) เสื่อ กระบุง ตะกร้า เป็นต้น โครงแผงของควั่นจะถูกติดตั้งอยู่เหนือขื่อหรือแปหัวเสา เหนือพื้นที่เติ๋น (ชานร่มยกพื้นใต้ชายคาหน้าเรือน)โดยถ่ายน้ำหนักสิ่งของที่วางไว้ ลงบนขื่อหรือแป ซึ่งถ่ายน้ำหนักไปลงเสาเรือนอีกที นับเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนาในการจัดระเบียบการใช้ที่ว่างภายในเรือนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม ทำให้ควั่นมีลักษณะเป็นเพดานของเรือนไปด้วยในขณะเดียวกัน ในห้องครัว (เต๋าไฟ) นิยมทำควั่นผืนขนาดไม่ใหญ่มากเพื่อใช้ผึ่งถนอมอาหารเหนือเตาไฟเช่นกัน วิธีการเช่นนี้นอกจากถนอมอาหารแล้วยังช่วยขับไล่แมลงไม่ให้มาไต่ตอมหรือแทะกินเช่นกัน


 












ที่มา : ภาพเติ๋นบนเรือนคำเที่ยง ในสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์
อ้างอิง: เชาวลิต สัยเจริญ, บทความร่างก่อนส่งให้ชมรมฮักตั๋วเมืองไปลงนิตยสาร มติชน รายสัปดาห์

เสาแหล่งหมา

เสาแหล่งหมา

คำว่า “แหล่ง” ในคำว่า “เสาแหล่งหมา” หมายถึง หลักแหล่ง หรือ ที่อยู่ “เสาแหล่งหมา” จึงเป็นส่วนประกอบของเรือนชาวไตหลายเผ่า ที่เป็นเสาเรือนต้นแรกหน้าบันไดทางขึ้นเรือน เป็นที่อยู่ของหมาเฝ้าเรือน พื้นที่ส่วนนี้เมื่อถามเจ้าของเรือนทั้งหลายในอดีต พบว่า ผู้สร้างเรือนไม่ได้ตั้งใจสร้างเพื่อให้หมาอาศัยอยู่ เสาต้นนี้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นโครงสร้างรับหลังคาที่คลุมบันไดหน้าเรือนเป็นหลัก แต่ครอบครัวที่เลี้ยงหมาทุกครัวเรือนจะเห็นหมาที่ตนเลี้ยงไว้นั้น ชอบมาอยู่มานั่งนอนเฝ้าเรือนให้อย่างซื่อสัตย์ที่หัวบันไดเรือนตรงตำแหน่งนี้ ชาวไตเหล่านี้จึงเรียกเสาต้นนี้ว่าเสาแหล่งหมา เรือนลักษณะนี้ผู้เขียนพบว่ามีลักษณะเฉพาะที่พบในเรือนของชาติพันธุ์ ไตลื้อ ไตเขิน ไตใหญ่ ไตยวน และไตลาวบางกลุ่ม เป็นหลัก ซึ่งมีการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่โดยรอบลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ของมณฑลยูนนานลงมาในพื้นที่ตอนเหนือของลาวผ่านหลวงพระบางมาสู่อีสานเหนือและภาคเหนือของไทย ต่อเนื่องไปสู่พื้นที่ฟากตะวันออกของรัฐฉานในเขตพม่า เรือนบางหลังจะมีตุ่มใส่น้ำล้างเท้าข้างๆ เสาแหล่งหมา สมัยหลังสร้างเป็นบ่อล้างเท้าขนาดเล็กทรงหลมหรือสี่เหลี่ยม พื้นดินข้างๆ นิยมปลูกไม้ดอกไม้ประดับพื้นบ้านที่ได้น้ำจากการล้างเท้าโดยไม่ได้ตั้งใจรด ทำให้เติบโตสวยงามตามธรรมชาติ เป็นเอกลักษณ์หนึ่งในวิถีพื้นบ้านล้านนา


ที่มาของภาพ: ผู้เขียนถ่ายที่เรือนกาแลอายุประมาณ ๑๑๐ ปี ในพิพิธัณฑ์เรือนโบราณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อ้างอิง: เชาวลิต สัยเจริญ, บทความร่างก่อนส่งให้ชมรมฮักตั๋วเมืองไปลงนิตยสาร มติชน รายสัปดาห์