วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ควั่น

ควั่น
ควั่น (ควั่นฯ) คือ โครงแผงไม้สำหรับเก็บของระดับเหนือศรีษะ ทำด้วยระแนงไม้ไผ่หรือไม้สัก สานหรือประกอบขัดกันเป็นช่องตารางห่างเป็นช่วง เท่าๆ กัน พอที่จะนำเอาน้ำต้น (คนโท) ไปคว่ำเสียบเก็บไว้ หรืออาจเก็บของใช้ในชีวิตประจำวันที่จำเป็นอื่นๆ เช่น ขัน โอ (ขันขนาดใหญ่ บางขันอาจมีฝาปิดด้วย) เสื่อ กระบุง ตะกร้า เป็นต้น โครงแผงของควั่นจะถูกติดตั้งอยู่เหนือขื่อหรือแปหัวเสา เหนือพื้นที่เติ๋น (ชานร่มยกพื้นใต้ชายคาหน้าเรือน)โดยถ่ายน้ำหนักสิ่งของที่วางไว้ ลงบนขื่อหรือแป ซึ่งถ่ายน้ำหนักไปลงเสาเรือนอีกที นับเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านล้านนาในการจัดระเบียบการใช้ที่ว่างภายในเรือนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม ทำให้ควั่นมีลักษณะเป็นเพดานของเรือนไปด้วยในขณะเดียวกัน ในห้องครัว (เต๋าไฟ) นิยมทำควั่นผืนขนาดไม่ใหญ่มากเพื่อใช้ผึ่งถนอมอาหารเหนือเตาไฟเช่นกัน วิธีการเช่นนี้นอกจากถนอมอาหารแล้วยังช่วยขับไล่แมลงไม่ให้มาไต่ตอมหรือแทะกินเช่นกัน


 












ที่มา : ภาพเติ๋นบนเรือนคำเที่ยง ในสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์
อ้างอิง: เชาวลิต สัยเจริญ, บทความร่างก่อนส่งให้ชมรมฮักตั๋วเมืองไปลงนิตยสาร มติชน รายสัปดาห์

เสาแหล่งหมา

เสาแหล่งหมา

คำว่า “แหล่ง” ในคำว่า “เสาแหล่งหมา” หมายถึง หลักแหล่ง หรือ ที่อยู่ “เสาแหล่งหมา” จึงเป็นส่วนประกอบของเรือนชาวไตหลายเผ่า ที่เป็นเสาเรือนต้นแรกหน้าบันไดทางขึ้นเรือน เป็นที่อยู่ของหมาเฝ้าเรือน พื้นที่ส่วนนี้เมื่อถามเจ้าของเรือนทั้งหลายในอดีต พบว่า ผู้สร้างเรือนไม่ได้ตั้งใจสร้างเพื่อให้หมาอาศัยอยู่ เสาต้นนี้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นโครงสร้างรับหลังคาที่คลุมบันไดหน้าเรือนเป็นหลัก แต่ครอบครัวที่เลี้ยงหมาทุกครัวเรือนจะเห็นหมาที่ตนเลี้ยงไว้นั้น ชอบมาอยู่มานั่งนอนเฝ้าเรือนให้อย่างซื่อสัตย์ที่หัวบันไดเรือนตรงตำแหน่งนี้ ชาวไตเหล่านี้จึงเรียกเสาต้นนี้ว่าเสาแหล่งหมา เรือนลักษณะนี้ผู้เขียนพบว่ามีลักษณะเฉพาะที่พบในเรือนของชาติพันธุ์ ไตลื้อ ไตเขิน ไตใหญ่ ไตยวน และไตลาวบางกลุ่ม เป็นหลัก ซึ่งมีการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่โดยรอบลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ของมณฑลยูนนานลงมาในพื้นที่ตอนเหนือของลาวผ่านหลวงพระบางมาสู่อีสานเหนือและภาคเหนือของไทย ต่อเนื่องไปสู่พื้นที่ฟากตะวันออกของรัฐฉานในเขตพม่า เรือนบางหลังจะมีตุ่มใส่น้ำล้างเท้าข้างๆ เสาแหล่งหมา สมัยหลังสร้างเป็นบ่อล้างเท้าขนาดเล็กทรงหลมหรือสี่เหลี่ยม พื้นดินข้างๆ นิยมปลูกไม้ดอกไม้ประดับพื้นบ้านที่ได้น้ำจากการล้างเท้าโดยไม่ได้ตั้งใจรด ทำให้เติบโตสวยงามตามธรรมชาติ เป็นเอกลักษณ์หนึ่งในวิถีพื้นบ้านล้านนา


ที่มาของภาพ: ผู้เขียนถ่ายที่เรือนกาแลอายุประมาณ ๑๑๐ ปี ในพิพิธัณฑ์เรือนโบราณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อ้างอิง: เชาวลิต สัยเจริญ, บทความร่างก่อนส่งให้ชมรมฮักตั๋วเมืองไปลงนิตยสาร มติชน รายสัปดาห์