สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Vernacular architecture) เป็นสิ่งที่คนแต่ละเผ่าสร้างขึ้น (Built environment) เป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์วัฒนธรรม (Cultural landscape) ของแต่ละชุมชน มีลักษณะ (Characteristics) ที่สะท้อนถึง ความต้องการพื้นฐานด้านการอยู่อาศัย ภายใต้ภูมิปัญญาที่แก้ปัญหาจากข้อกำหนดทางบริบทแวดล้อมของชุมชน ไม่ว่าจะเป็น สภาพแวดล้อมทางกายภาพพื้นที่ สภาพดินฟ้าอากาศ วัสดุท้องถิ่นที่หาได้ ค่านิยม ความเชื่อ จารีต และโลกทัศน์ความเป็นอยู่ สร้างขึ้นตามสัญชาตญานทางธรรมชาติของมนุษย์ สร้างขึ้นกันเองโดยไร้สถาปนิกหรือนักออกแบบอาชีพ เน้นความลงตัวเรียบง่ายของการใช้งานตามเหตุผล มากกว่าการสร้างเพื่อโอ้อวดสถานะทางสังคมหรือเป็นไปในทางฟุ่มเฟือย ความงดงามของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น จึงเป็นความงามที่ซื่อตรง บริสุทธิ์ ถ่อมตน และมีเอกลักษณ์ตามแต่ละท้องที่
สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในล้านนา มีทั้งที่เป็นของชาติพันธุ์คนเมือง (ไตยวนและลูกผสม) ไตลื้อ ไตใหญ่ ไตเขิน ไตยอง และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชนกลุ่มน้อย ชนกลุ่มน้อยในที่นี้หมายถึงชาติพันธุ์บริสุทธิ์ที่เคยอยู่ในพื้นที่ ได้แก่ ชาวลัวะ และชาติพันธุ์ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในล้านนาภายหลัง ได้แก่ ชาวม้งที่มีการเคลื่อนย้ายเข้ามาประมาณร้อยกว่าปี ชาวกะเหรี่ยงที่เคลื่อนย้ายเข้ามาภายหลัง รวมทั้ง ชาวอาข่า ชาวมูเซอ ชาวปะหล่อง ชาวเย้า เป็นต้น
สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของพวกเขา สะท้อนให้เป็นความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมการก่อสร้างจากแหล่งตั้งถิ่นฐานเดิมที่ปรากฏในรูปแบบการเลือกที่ตั้งถิ่นฐาน ชาวม้งตั้งถิ่นฐานบนยอดดอย ที่ตำแหน่งเหนือระดับน้ำทะเลที่สูงกว่าชาวเขาเผ่าอื่นๆ เพราะนับถือผีฟ้าและกลัวผีน้ำ จึงไม่ตั้งชุมชนติดแหล่งน้ำ ชาวอาข่าเลือกที่ตั้งถิ่นฐานบนดอยสูงเช่นกันแต่ไม่เลือกบนยอดดอยเหมือนขาวม้ง ชาวลัวะเลือกที่ตั้งถิ่นฐานบนที่ราบเนินเขาหรือบนไหล่เขาใกล้แหล่งน้ำ ชาวกะเหรี่ยงนับถือผีฟ้าเกรงกลัวผีฟ้าและเลือกตั้งถิ่นฐานติดลำห้วยตามซอกเขา
รูปแบบการก่อสร้างที่เชื่อมโยงกับแหล่งที่ตั้งถิ่นฐานเดิมของชนกลุ่มน้อย เช่น การสร้างเรือนติดพื้นดินของชาวม้งที่นิยมทำกันแบบในเขตยูนนาน หรือการสร้างเรือนยกพื้นใต้ถุนสูงของชาวลัวะและกะเหรี่ยง ชาวอาข่าสร้างเรือนยกพื้นที่ต่ำกว่าเรือนลัวะและกะเหรี่ยง บนดอยสูงพื้นที่ลาดเท เหมือนชาวอาข่าในเขตยูนนาน ส่วนชาวเขาอพยพเผ่าอื่นที่เคลื่อนตัวเข้ามาภายหลัง มักประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนพื้นที่ตั้งถิ่นฐาน รัฐบาลเห็นว่าเป็นกลุ่มที่บุกรุกพื้นที่ป่า การแก้ปัญหาภายหลังจึงต้องมีการจัดสรรพื้นที่ตั้งถิ่นฐานให้ แต่ยังขาดแคลนพื้นที่ทำกินด้านการเษตรเลี้ยงชีพ ฉะนั้นกลุ่มหลังนี้จึงไม่สามารถสร้างเรือนพักอาศัยให้มีสภาพที่เหมาะสมหรือสะท้อนเอกลักษณ์จากแหล่งที่อพยพมาที่ชัดเจน ระบบการสร้างภูมิปัญญาและอัตลักษณ์ชนเผ่าไม่เข้มแข็ง มักมีการหยิบยืมภูมิปัญญาของชนเผ่าข้างเคียงมาใช้ ซึ่งอาจไม่เพียงแต่ด้านการก่อสร้าง เราอาจพบทั้งรูปแบบการแต่งกาย การทำการเกษตร เครื่องประดับกาย เครื่องมือในการดำรงชีพ เป็นต้น
สาปัตยกรรมพื้นถิ่นของแต่ละชนเผ่า มองภาพรวมอาจดูคล้ายกัน แต่ในความเป็นจริงมีความแตกต่างกันอยู่มากหลายมุม ต้องศึกษาลงไปรายละเอียดของประวัติความเป็นมาชนเผ่า วัฒนธรรมชนเผ่า ด้าน ความเชื่อ จารีตและประเพณีต่างๆ ซึ่งพบว่า สัมพันธ์ไปกับทิศทางและองค์ประกอบการวางผังหมู่บ้าน และ การวางผังบ้าน รวมทั้งการกำหนดพื้นที่ว่างสาธารณะ พื้นที่ว่างกึ่งสาธารณะ และพื้นที่ว่างครัวเรือน รวมทั้งพื้นที่ว่างส่วนบุคคล มีพื้นที่พิเศษที่สะท้อนสถานะทางสังคมของชนเผ่า ผู้นำ หมอผี เพศสภาวะ และมีพื้นที่สำหรับผีและวิญญานบรรพบุรุษ โดยมีระเบียบข้อห้ามเชิงปฏิบัติบางประการที่เกี่ยวเนื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อนมากขึ้น ต้องใช้เวลาและความสนใจในการศึกษาลึกซึ้งเพิ่มเติมเป็นพิเศษ
ปัจจุบันสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของชนเผ่าต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการใช้วัสดุท้องถิ่นไปเป็นวัสดุสมัยใหม่มากขึ้น จนบางหมู่บ้านไม่สามารถหารูปแบบเอกลักษณ์แบบดั้งเดิมหลงเหลือ เพราะการขาดแคลนวัสดุก่อสร้างจากธรรมชาติ การลดจำนวนลงของต้นไม้ใหญ่ในป่า ต้นตองตึง (พลวง) ต้นค้อ หญ้าคา เป็นต้น การใช้วัสดุสมัยใหม่ช่วยให้เสียเวลาในการคอยซ่อมแซมบ้านน้อยลง ซึ่งปกติซ่อมหลังคาใบไม้ทุกสองถึงสามปี การเสียเวลาเสาะหาวัสดุมุงหลังคาซึ่งหายากมากขึ้น พวกเขาคิดว่าสู้ใช้เวลาในการทำงานหรือขายแรงงานแลกเงินเพื่อมาซื้อวัสดุมุงหลังคาแบบใหม่ เช่น สังกะสี กระเบื้องลอน จะทำให้คงทนกว่า แม้จะทำให้ในบ้านร้อนขึ้น และเมื่อหาเงินได้มากขึ้นอีกก็จะซื้อวัสดุสมัยใหม่มาซ่อมสร้างในโครงสร้างส่วน ผนัง พื้น ฯลฯ อีก และถ้าหาเงินได้มากขึ้นอีก ก็จะมีความสะดวกสบายในชีวิตที่ยกระดับขึ้นและทันสมัยตามอย่างคนในเมืองมากขึ้น สิ่งอำนวยความสะดวกที่ต้องการได้แก่ มอเตอร์ไซด์ รถกระบะ วิทยุ ทีวี ตู้เย็น พัดลม เครื่องเล่นดีวีดี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นเรื่องเชิดชูฐานะของตนเองเช่นกัน