หลักฐานที่อ้างอิงได้เก่าที่สุดจากบันทึกของตำนานและโบราณสถาน พบว่าก่อนอาณาจักรล้านนา และย้อนไปต้นอาณาจักรโยนกนาคพันธุ์ ราวปี พ.ศ.๑๔๕๔ พระมหากัสสะปะเถระและพระเจ้าอุชุราช กษัตริย์นครโยนกนาคพันธุ์ ได้ประดิษฐานพระพุทธศาสนาโดยกำหนดสร้างพระธาตุดอยตุง เป็นสัญลักษณ์ ท่ามกลางไพร่ไทชาวไตโยนและพี่น้องชาวลัวะ (ละว้า) ที่ร่วมอยู่อาศัยในอาณาจักรเดียวกัน โดยได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ พระรากขวัญเบื้องซ้าย (กระดูกไหปลาร้า) บรรจุในพระเจดีย์ธาตุบนดอยตุง ไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานที่มีการสร้างพระธาตุที่เก่าแก่กว่านี้ ในสมัยนั้นลัทธิความเชื่อผียังเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก ทั้งลัทธิความเชื่อผีของชาวลัวะพื้นถิ่นเดิม และลัทธิความเชื่อผีของชาวไตโยน
การศึกษาในลัทธิความเชื่อผีของชาวลัวะและชาวล้านนาในสมัยหลัง เป็นหลักฐานอันดีที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาความเชื่อที่รักษาวัฒนธรรมประเพณีของสังคมท้องถิ่นไว้ได้เป็นอย่างดี ชาวลัวะมีความเชื่อเรือ่งผีน้อยใหญ่ ผีใหญ่ที่สุดที่เซ่นไหว้ มีหลักฐานปัจจุบันที่ยังหลงเหลือ คือ การเลี้ยงผี "สะไปว์ตะยวง" ซึ่งจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าในหมู่บ้านชาวลัวะแถบแม่แจ่มและแม่ลาน้อยกล่าวว่า เป็นประเพณีดั้งเดิมที่จะจัดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนผู้นำ และเชื่อกันว่า การเลี้ยงผีใหญ่นี้จะทำให้ชาวบ้านอยู่ร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และผีที่พวกเขานับถือจะคุ้มครองให้ปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ โดยจุดทำพิธีจะอยู่ที่ศาลผีซึ่งมีเสาสะกัง หรือเสาสักการะที่ลานด้านหน้าหรือใจกลางหมู่บ้าน เสาสะกังเป็นเอกลักษณ์ประจำผู้นำหมู่บ้าน หนึ่งต้นต่อหนึ่งผู้นำ มีการแกะสลักลำต้นไม้ที่นำมาทำเสาอย่างพิเศษสวยงาม แตกต่างกันไปตามแต่ละหมู่บ้าน ในสมัยก่อนตั้งเมืองเชียงใหม่นั้น พื้นที่เดิมเป็นเมืองนพบุรีของชาวลัวะ ๙ หมู่บ้าน การสร้างเมืองเชียงใหม่ของพญามังราย ได้มีกุศโลบายรวมเสาทั้งหมดเข้าสู่จุดศูนย์กลางเมืองเชียงใหม่ เรียกว่า "เสาอินทขิล" เป็นคติการสร้างที่หมายเมือง (land mark) ที่สอดคล้องกับคติการสร้างเมืองของไตโยนแห่งโยกนาคนครเดิม ที่กำหนดศูนย์กลางเมืองเป็นสะดือเมือง พัฒนาการของคติเช่นนี้ได้ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และส่งผลพลังที่ยิ่งใหญ่ทางนามธรรมต่อจิตใจของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองเชียงใหม่ให้มีศูนย์รวมจิตใจและเสริมสร้างความสามัคคี นับแต่เมื่อแรกสร้างเมือง
คติการปักเสาศักดิ์สิทธิ์กลางหมู่บ้านเพื่อการสักการะนี้ มีพัฒนามาเนิ่นนานเกินกว่า ๒,๐๐๐ ปีที่แล้ว ชนชาติไตทางตอนเหนือของดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ และแถบลุ่มน้ำโขงที่อยู่สูงขึ้นไป รวมทั้งชาวลัวะบนเขาในพื้นที่ใกล้เคียง ต่างมีเสาสักการะกลางหมู่บ้านเช่นกัน แต่แตกต่างทางวัฒนธรรมและอยู่อาศัยคนละแห่งไม่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน จวบจนยุคสมัยการแผ่อิทธิพลของกุบไลข่านจากมองโกลลงมายังดินแดนตอนใต้ของประเทศจีนปัจจุบัน อันเป็นที่อยู่อาศัยของชาวไต เผ่าต่างๆ นำโดยไตลื้อ ไตยวน ไตใหญ่ ชาวลัวะ และชาวเขาบางเผ่า รวมพลังต่อต้านการรุกรานของกุบไลข่านผู้กระหายอำนาจในเวลานั้นจนสำเร็จ ทำให้เริ่มมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน มีการช่วยเหลือกัน แม้แต่ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านั้นที่มีการขับไล่กรอม (ขอม) ออกไปจากดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง ก็ได้อาศัยความร่วมมือร่วมใจของชาวไตลื้อ ไตโยน ลัวะ และอาจรวมถึงชาวข่าเผ่าต่างๆ ทำให้วงศ์ลาว (ราชวงศ์ลวจังกราช) ได้เกิดขึ้น ได้เชื่อมต่อพัฒนาการของราชวงศ์สิงหนวัตที่สัมพันธ์กับชาวไตโบราณทางตอนเหนือมาสร้างดินแดนใหม่ลุ่มน้ำโขง ณ เมืองสุวรรณโคมคำ สืบต่อถึงการตั้งแคว้นหิรัญนครเงินยวง (หิรัญนครเงินยาง) อันเป็นแคว้นที่ประสูติของพญามังรายมหาราช ขณะเดียวกันลูกหลานไตต้นราชวงศ์ลาวก็ได้แผ่ขยายไปในดินแดนชวา (ภายหลังคือหลวงพระบาง) จนมีการรวบรวมผู้คนและแว่นแคว้นขึ้นในลุ่มน้ำโขง น้ำคาน และน้ำอู โดยพระเจ้าฟ้างุ้ม ก่อตั้งอาณาจักรล้านช้าง ณ ดินแดนริมน้ำโขง มีหลวงพระบางเป็นราชธานี เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๙๖ – ๑๙๖๑ โดยการสนับสนุนของกษัตริย์ขอมผู้เป็นพ่อตา หลังจากนั้นจึงเริ่มรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาแทนการนับถือผี
ชาวไตโบราณหลายเผ่าในยูนนาน โดยเฉพาะชาวไตใหญ่ และ ไตลื้อที่เป็นบรรพบุรุษสาขาใหญ่ของชาวไตลุ่มแม่น้ำโขงและของชาวไตโยน ได้มีลัทธิความเชื่อผีมาก่อนแล้ว ในหมู่บ้านมีข่วงใจบ้าน หมายสัญลักษณ์ไว้ด้วยหินหรือเสาไม้เนื้อแข็ง อันเป็นที่สิงสถิตของเหล่าอาฮักษ์บรรพุรุษ คติการสร้างใจบ้านและใจเมืองจึงมีมานานเนิ่นแล้ว แม้ปัจจุบันก็ยังสามารถพบหลักฐานของเสาใจบ้านใจเมืองเหล่านั้นได้ทั้งในเขตยูนนาน ในเขตรัฐฉาน ในอัสสัม ในล้านนา ในเวียดนามแถบลุ่มแม่น้ำดำแม่น้ำแดง และในลาว แต่ในลาวและเวียดนามอาจพบว่ามีการสูญหายไปมากเนื่องด้วยผลกระทบทางด้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
คำว่า "สะดือเมือง" ได้ปรากฏมีในตำนานต่างๆ ในล้านนา ที่กล่าวถึงหลักฐานเก่าที่สุดที่บันทึกกล่าวถึงการหมายกลางเมืองด้วยการกำหนดเอาต้นเงินยวงในเมืองเงินยวงเป็นศูนย์กลางเมืองใหม่ ภายหลังจากการล่มของเวียงโยนกนาคพันธ์ จวบจนเมื่อมีการสร้างเมืองใหม่ที่สำคัญในสมัยพญามังราย ได้แก่เมืองเชียงราย เมืองไชยปราการ เมืองพร้าว เป็นต้น พบว่าได้มีการกล่าวถึงการกำหนดสะดือเมือง และใจเมือง ด้วยการหมายตำแหน่งบนยอดดอย และการปลูกหรือยึดตำแหน่งต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ หรือปักเสาสักการะ เป็นเสื้อเมือง คตินี้เป็นแบบอย่างของคติชาวไตลื้อ ไตโยน และไตหลายเผ่า พบเห็นได้ทั่วไปทั้งในระดับหมู่บ้านเล็กๆ จนถึงระดับเมือง เช่น หมู่บ้านไตลื้อในสิบสองปันนา หมู่บ้านไตเขินในเชียงตุง หมู่บ้านไตโยนในเชียงใหม่ เป็นต้น ส่วนระดับเมืองได้แก่ เมืองเชียงตุง เมืองเชียงรุ่ง เมืองเชียงทอง (หลวงพระบาง) เมืองเชียงใหม่ เป็นต้น
คติความเชื่อว่าเมืองเหมือนมนุษย์ของชาวล้านนา ทำให้เมืองมี หัวเมือง ใจเมือง สะดือเมือง ตีนเมือง ที่สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องทิศ นักวิชาการจำนวนมากลงความเห็นว่า ลัทธิพราหมณ์-ฮินดู ที่มีอิทธิพลต่อชาวลัวะพื้นถิ่นในช่วงสมัยหริภุญชัยและก่อนหน้านั้น มีบทบาทต่อความเชื่อดังกล่าว สันนิษฐานว่าได้รับมาจากคติการสร้างเมืองของทวาราวดีและขอมโบราณที่รับมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่ง หลังจากการเกิดขึ้นของอาณาจักรล้านนา เมื่อพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองถึงยุคทองของล้านนา ได้มีการเสริมคติทางศาสนาพุทธด้านการเสริมศิริมงคลให้แก่เมือง โดยกำหนดทักษาเมืองขึ้นในเมืองสำคัญของล้านนา ภายหลังเมื่อล้านนาเสื่อมลง ลัทธิความเชื่อผี รวมทั้งคติการสร้างเมืองและรักษาเมืองได้เสื่อมลงตาม ปัจจุบันมีการปฏิบัติหลายสิ่งที่ขัดต่อจารีตประเพณีดั้งเดิมเป็นอันมาก เป็นที่กล่าวขวัญกันของชาวล้านนาผู้อาวุโสที่เชื่อว่านำมาซึ่งความอัปมงคลหรือที่เรียกว่า "ขึดบ้านขึดเมือง" เช่น การเผาผีในเมือง เป็นต้น